เมืองโบราณไชยา


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ไชยา

ที่ตั้ง : อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

อำเภอ : ไชยา

จังหวัด : สุราษฎร์ธานี

พิกัด DD : 9.384508 N, 99.18444 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ไชยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองท่าโพธิ์, คลองตะเคียน, คลองพุมเรียง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

อำเภอไชยาอยู่ห่างจากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีประมาณ 68 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี มีรถประจำทางสองแถวอำเภอเมือง – ไชยา, รถตู้ สามารถลงในตัวอำเภอเมืองไชยาได้สะดวก การเดินทางโดยรถไฟสามารถลงที่สถานีไชยาได้โดยสะดวก ส่วนการเดินทางโดยรถส่วนตัว เดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีบนทางหลวงหมายเลข 41 ที่มุ่งหน้าไปอำเภอชุมพร ประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณก.ม. 134 ผ่านสวนโมกข์ และเลี้ยวขวาอีกครั้งตรงสี่แยกโมถ่ายหรือตามถนนทางหลวงหมายเลข 4011 ตรงไปราวประมาณ 3 กิโลเมตรจึงถึงกลางอำเภอเมืองไชยา (แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ภายในตัวเมืองอำเภอไชยา)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ชุมชนโบราณไชยาปัจจุบันเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ โบราณสถานวัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง และวัดพระบรมธาตุไชยา โดยเฉพาะวัดพระบรมธาตุไชยาที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางสักการะพระบรมธาตุเป็นจำนวนมากและ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในตัวอำเภอไชยา โดยเปิดให้เข้าชมในวันพุธ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม คนไทย 5 บาท คนต่างชาติ 10 บาท นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวเชิ่งนิเวศและวัฒนธรรม ที่บริเวณหมู่บ้านพุมเรียง 

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

เทศบาลตำบลตลาดไชยา, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ไม่มีการประกาศขึ้นทะเบียนทั้งเมืองโบราณ แต่ขึ้นทะเบียนเฉพาะบางแหล่ง ได้แก่ โบราณสถานวัดเวียง โบราณสถานวัดแก้ว โบราณสถานวัดหลง วัดพระบรมธาตุไชยา เขาสายสมอ วัดเขาน้ำร้อน วัดใหม่ชลธาร วัดป่าเลไลย์ วัดโท วัดจำปา วัดอุบล และวัดสมุหนิมิต

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ภูเขา, สันทราย, ชายฝั่งทะเล

สภาพทั่วไป

ชุมชนโบราณไชยา เป็นชื่อที่ใช้เรียกชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ในอำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่มีความสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 18

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอำเภอไชยา ทางตอนในเป็นพื้นที่สูงเป็นป่าเขาได้แก่พื้นที่บริเวณเขาพนมแบก ทางตอนกลางเป็นพื้นที่ราบหรือดอนสลับริ้วสันทรายขนาดเล็กและใหญ๋ วางตัวในแนวทิศเหนือใต้ มีสันทรายขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตอนกลางของชุมชนขนาดกว้าง 3 ก.ม. กว้าง 300 – 400 เมตรสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ  1-2 เมตร คือ พื้นที่ตั้งวัดเวียง วัดแก้ว วัดหลงและเขาน้ำร้อนในปัจจุบัน  ระหว่างพื้นที่ราบมีภูเขาลูกโดดกระจายตัวอยู่ทั่วไป (ภูเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหินทรายแดงและหินปูน) บางแห่งมีศาสนสถานตั้งอยูบนเขา เช่น เขาน้ำร้อน เป็นต้น

ชุมชนไชยามีลำคลองไหลผ่านหลายสาย คลองที่สำคัญ ได้แก่ คลองไชยา คลองตะเคียน คลองท่าโพธิ์ และคลองพุมเรียง คลองเหล่านี้ไหลลงสูทะเลโดยตรงปากคลองบางสายก็ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี เช่น แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ เป็นต้น

จากการสำรวจทางโบราณคดีทางโบราณคดี พบแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง สามารถแบ่งออกตามลักษณะภูมิประเทศได้ ดังนี้

- กลุ่มชุมชนบนสันทราย ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดี 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีวัดเวียง ต.ตลาดไชยา,  แหล่งโบราณคดีวัดหลง ต.ตลาดไชยา ,แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว ต.เลม็ด และแหล่งโบราณคดีบ้านหัวคู ต.เวียง

- กลุ่มชุมชนบนริ้วสันทรายขนาดเล็ก ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดี 5 แหล่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านลำไย ต.ทุ่ง,แหล่งโบราณคดีวัดอิฐ ต.ทุ่ง,แหล่งโบราณคดีวัดประสบ ต.ทุ่ง และแหล่งโบราณคดีตำบลทุ่ง ต.ทุ่ง

- กลุ่มชุมชนแนวลำน้ำ ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดี  7 แหล่ง

แนวลำคลองท่าตีนและคลองตะเคียน มีแหล่งโบราณคดีบ้านมณฑล ต.ป่าเว

แนวลำคลองท่าโพธิ์มีแหล่งโบราณคดีวัดใหม่ชลธาร ต.ตลาดไชยา

แนวลำคลองไชยา มีแหล่งโบราณคดีวัดเดิมเจ้า ต.ป่าเว,แหล่งโบราณคดีวัดเววน ต.ป่าเว,แหล่งโบราณคดีวัดศรีเวียง ต.ป่าเว,แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง ต.ตลาดไชยาและแหล่งโบราณคดีวัดพระบรมธาตุไชยา ต.เวียง

- กลุ่มชุมชนบนเนินเขาริมลำน้ำ ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดี 3 แหล่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีเขาพนมแบก ต.เขาพนมแบก,แหล่งโบราณคดีเขาสายสมอ ต.เวียงและแหล่งโบราณคดีเขาน้ำร้อน ต.เลม็ด

-กลุ่มชุมชนชายฝั่งทะเล ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดี 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีวัดโพธารามและแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ต.พุมเรียง ( ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, 2542, 2195 – 2218)

ทางน้ำ

เมืองโบราณไชยา เป็นพื้นที่ราบสลับริ้วสันทรายที่มีลำคลองไหลสายไหลผ่านลงสู่ทะเล ลำคลองเหล่านี้ ได้แก่ คลองไชยา คลองท่าโพธิ์ คลองตะเคียน และคลองพุมเรียง

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีวิทยาของสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีเกิดการงอกของแผ่นดินจากตะกอนของแม่น้ำ การพัดพาของลมและน่ำทะเลทำให้เกิดที่ราบล่มแม่น้ำและริ้วสันทรายหลายแห่งโดยเป็นริ้วสันทรายที่เกิดขึ้นใหม่ราวในช่วง Holocene มีอายุประมาณ 11,000 ปีมาแล้ว (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2526,1-4) 

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปราโมกข์ (หนู)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2439

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปราโมกข์ (หนู) ได้ชักชวนเจ้าอาวาสปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเมืองไชยา โดยได้บันทึกลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุไชยาโดยปรากฏใน “รายงานเสนอพระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าหลวงเทศาชุมพร” เมื่อเดือนกันยายน ร.ศ.129 ว่า องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐาน ตอนต่อจากพื้นฐานขึ้นไปถึงหอระฆังลดชั้นมีหน้ามุขหน้าบันและบราลีทุกชั้น แต่บราลีทำเป็นรูปเจดีย์เล็กๆ กำแพงระเบียงทำเป็นสี่เหลี่ยมจัสตุรัสและตามระเบียงมีพุทธปฎิมากรศิลาล้อมรอบนับได้ 180 องค์ โครงสร้างเป็นอิฐไม่ใช้ปูนสอแต่เป็นลักษณะอิฐป่นเป็นบายสอ สันนิษฐานว่าก่อนการบูรณะในครั้งนี้มีการบูรณะในสมัยโบราณมาแล้ว 2 ครั้ง

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2440

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ในการเสด็จตรวจราชการมณฑล ณ ปักษ์ใต้ พ.ศ.2440-2454 ทรงพบพระพุทธรูปนาคปรกกับศิลาจารึก 2 หลักที่วัดเวียงหลวงเสรีวรราช(แดง)นายอำเภอพุมเรียงได้นำมาถวายที่กรุงเทพ ในการขุดศิลาจารึกทั้งสองหลัก นายอุผู้ใหญ่บ้านได้กล่าวถึงตำแหน่งที่พบศิลาจารึกว่า อยู่ห่างจากวัดเวียงไปทางตะวันตกราว 1 เส้น ก่อเป็นผนังขึ้นยาวไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ในนั้นมีเทวรูปไปทางทิศเหนือราว 3 ศอก รูปศิลาผืนผ้ายาวราว 4 ศอก กว้าง 1 ศอก มีเดือยลงในเขียง ศิลาแท่งขนาดเล็กอยู่ทิศใต้ของเทวรูป ส่วนที่วัดพระบรมธาตุไชยา สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้นำประติมากรรมรูปพระโพธิ์สัตว์จากโบสถ์พราหมณ์บริเวณนอกกำแพงชั้นนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามายังกรุงเทพฯ

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2446

วิธีศึกษา : ทำผัง, ศึกษาตำนาน

ผลการศึกษา :

ทรงศึกษาตำนานท้องถิ่นและเขียนลงใน จดหมายเหตุระยะทางไปตรวจราชการแหลมมาลายู ร.ศ. 121 วินิจฉัยว่าเมืองโบราณก่อนการตั้งพระบรมธาตุไชยา อยู่บริเวณต้นน้ำคลองไชยา เหนือปากหมากตรงเขาเพลา พบกำแพงทำด้วยหิน แล้วยกจากวัดพระธาตุไปตั้งบ้านสงขลาแล้วจึงไปพุมเรียง จากนั้นได้ทำผังวัดพระบรมธาตุไชยาและบันทึกโบราณวัตถุในพระบรมธาตุไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : E.E.Lunet de Lajonquiére

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2452

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2452-2455 ได้สำรวจโบราณสถานและโบราณวัตถุภาคใต้และตีพิมพ์ผลงานใน Bulletin de la commission Archéologique de I’Indochine เรื่อง “La Domaine Archéologique du Siam” และ “Essai d’Inventaire Archéologique du Siam” กล่าวว่าชุมชนโบราณไชยาน่าจะคือ อาณาจักร “พัน-พัน” ส่วนพระบรมธาตุไชยา มีเทคนิคคล้ายสถาปัตยกรรมของจามและเขมร พระพุทธรูปศิลาแดงในวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นศิลปะกลุมไทย ส่วนประติมากรรมจากวัดเวียงจัดอยู่ในศิลปะอินเดีย – เขมร

ชื่อผู้ศึกษา : หลวงวิชิตภักดี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2460

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

หลวงวิชิตภักดี นายอำเภอไชยา ขุดตรวจสอบตรงบริเวณที่พบจารึกวัดเวียงพบฐานเลียบของจารึกเพิ่มเติม เป็นข้อยืนยันว่าศิลาจารึกหลักที่ 24 ก.และ 24 ข.

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2461

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “Le royaume de Crivijaya” ใน Bulletin de l’Ecole Francaise d’Extrême,Orient,XVIII,1918 และ “ A propos de la chut du royaume de Crivijaya” ใน BKI, vol 83 กล่าวถึงจารึกพระพุทธรูปนาคปรกสำริดพบที่วัดเวียง ว่าเป็นจารึกภาษาเขมร อักษรขอม กล่าวว่าในปี พ.ศ.1773 กษัตริย์ในพระราชวงศ์เดียวกับที่ครองเมืองมาลายูสั่งให้ผู้ดูแลเมืองครหิหล่อพระพุทธรูปขึ้นในเมืองไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : C.otto Blagden

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2462

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ The empire of Maharaja,King of the Mountain and Lord of the Isles” ใน Journal Straits Branch Royal Asiatic Society, no.81,1921 กล่าวถึงจารึกพระพุทธรูปนาคปรกที่พบที่วัดเวียง

ชื่อผู้ศึกษา : Gabriel Ferrand

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2465

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ในงานเขียน L’empire sumatranais de Crivijaya ได้กล่าวว่าเมืองครหิที่ปรากฏบนจารึกพระพุทธรูปนาคปรกสำริดเป็นชื่อเมืองดียวกับเกียโลหิในจดหมายจีน

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2469

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์หนังสือ “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” จัดพระบรมธาตุไชยาเป็นตัวอย่างของมณฑปหลังคาทรงสถูป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปลัทธิมหายาน พระโพธิสัตว์หินและสำริดที่พบในเมืองไชยาจัดให้อยู่ในกลุ่มศิลปะสมัยศรีวิชัย มีอายุระหว่าง พ.ศ.1200 – 1400

ชื่อผู้ศึกษา : หลวงบริบาลบุริภัณฑ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2470

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

ทำการขุดตรวจสอบฐานรากทางทิศใต้ของโบราณสถานวัดแก้ว กล่าวว่ามีลักษณะคล้ายพระบรมธาตุไชยาแต่ขนาดใหญ่กว่าและยังไม่ได้ซ่อมแซม ด้านทิศตะวันตกมีรอยร้าว ส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นดินคลุม

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2471

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “Les Collections Archéologique du Musée National de Bangkok” ใน Ars Asiatica,1982,XII จัดโบราณวัตถุที่พบในไชยาว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยศรีวิชัย และวินิจฉัยว่าพระโพธิสัตว์หินที่วัดศาลาทึงเป็นประติมากรรมใกล้เคียงศิลปะทวารวดี ส่วนพระโพธิสัตว์สำริดที่พบที่วัดพระบรมธาตุไชยามีลักษณะใกล้เคียงศิลปะจาม

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ได้ตีพิมพ์หนังสือ “ประชุมศิลาจารึกสยามภาค 2” โดยได้บันทึกภาพ รวบรวมคำแปล คำอธิบายจารึกหลักที่ 24 ก, 24 ข (ยังไม่แปล) และหลักที่ 25 (ฐานพระพุทธรูปนาคปรก) โดยกล่าวว่าเป็นเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย

ชื่อผู้ศึกษา : Jean Yves Claeys

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

Jean Yves Claeys ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาโบราณวัตถุที่วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง เขาน้ำร้อน วัดใหม่ชลธาร วัดประสบ วัดป่าเลไลย์ วัดศาลาทึงกับหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จากนั้นได้ขุดตรวจสอบฐานของโบราณสถานวัดเวียงและวัดหลง เปรียบเทียบกับวัดแก้ว เสนอแนวความคิดลงใน L’Archéeologie du Siam ในปี ค.ศ. 1931 กล่าวว่าโบราณสถานอิฐวัดแก้วคล้ายกับเจดีย์ในเมืองจาม ส่วนโบราณสถานที่วัดหลงและวัดเวียงเป็นศาสนสถานฐานสี่เหลี่ยม มีการบูรณะในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับพระบรมธาตุไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : หลวงบริบาลบุริภัณฑ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2473

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พบโบราณวัตถุในไชยาเพิ่มเติม เช่น พระพุทธรูปหินลงรักปิดทองแบบทวารวดีในพระบรมธาตุไชยา 1 องค์,พระพุทธรูปหินประทับนั่งศิลปะทวารวดีในซุ้มหน้าพระบรมธาตุไชยา 1 องค์, พระพุทธรูปหินศิลปะศรีวิชัยจากระเบียงพระบรมธาตุไชยา 2 องค์ เทวรูปพระนารายณ์หินจากวัดใหม่ชลธารและพระสถูปหินทรงระฆังบนฐาน 6 ชั้นจากวัดประสบ

ชื่อผู้ศึกษา : H.G.Quaritch Wales

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2477

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

ทำการสำรวจและขุดทดสอบฐานรากวัดแก้วทางด้านตะวันออกและตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “A New Explored Route of Ancient Indian Cultural Expansion” ใน Indian Art and Letters vol.1 กล่าวว่าบริเวณไชยาน่าจะเป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย เพราะพบโบราณวัตถุมากกว่าที่พบที่ชวาและสุมาตรา มีเส้นทางจากตะกั่วป่ามาไชยา การขุดค้นที่วัดแก้วพบภาชนะดินเผาแบบพื้นเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

วินิจฉัยเกี่ยวกับชุมชนโบราณไชยาในสาส์นสมเด็จว่าบรรดาเมืองในภาคใต้เมืองโบราณไชยาถือเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด (รวมเมืองเวียงสระ) พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ในสมัยศรีวิชัยมีลักษณะศิลปะแบบหลังคุปตะ พระพุทธรูปที่พบที่เมืองไชยานิยมสร้างด้วยหินทรายแดงเพราะมีภูเขาหินทรายแดงใกล้เมืองกำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายสมัยศรีวิชัยร่วมสมัยขอมตอนปลาย

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2479

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ A propos d’une novella théorie sur le site de Crivijaya” ใน Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society เล่มที่ XIV ปี ค.ศ. 1936 เสนอว่าไชยาเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 โดยสันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่พบ เช่น พระโพธิสัตว์ที่พบแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมนดุต ชวาซึ่งน่าจะเป็นศูนย์กลางศรีวิชัย

ชื่อผู้ศึกษา : Reginald Le May

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2481

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “A Concise History of Buddhist Art in Siam” สันนิษฐานว่าประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรกสำริดที่วัดเวียงสร้างขึนไม่พร้อมกัน โดยตัวนาคมีรูปแบบศิลปะแบบเขมร ส่วนพระพุทธรูปมีลักษณะคล้ายศิลปะแบบทวารวดี ชื่อกษัตริย์ที่ปรากฏบนจารึกน่าจะเป็นกษัตริย์เชื่อสายเขมรที่เข้ามาปกครอง พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้น่าจะเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

ชื่อผู้ศึกษา : Pierre Dupont

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2485

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ Vishnu mitrés de l’Indochine occidentale” และ “Le Buddha de Grahi et L’école de Chaiya” ใน Bulletin de L’Ecole FranCaise d’Extreme Orient เล่ม XLIและ XLII ใน ปี 1941 กล่าวว่าพระวิษณุที่พบที่ไชยาเป็นสกุลช่างเดียวกับที่พบที่ปราจีนบุรี ส่วนพระพุทธรูปนาคปรกสำริดที่พบที่วัดเวียง จัดให้อยู่ในสกุลช่างไชยา วิจารณ์ว่าประติมากรรมนี้สามารถแยกได้ 3 ส่วน โดยตัวพระพุทธรูปนาคปรกและจารึกสร้างในช่วงเดียวกัน ส่วนพระพุทธรูปสร้างขึ้นในสมัยหลัง ส่วนพระพุทธรูปในช่วงพุทธศวรรษที่ 19 ที่พบที่ไชยานั้น พบว่าสืบทอดศิลปะมาจากช่วงสมัยศรีวิชัย

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2475, พ.ศ.2491

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ Histoire Anciennes des Etats Hindouises d’Extrême Orient ”และ “Les Etats Hindouise d’Indochine et d’Indonésie ในหนังสือ Histoire du Monde สันนิษฐานว่าข้อความในจารึกหลักที่ 24 ก. ที่พบที่วัดเวียง เป็นเรื่องราวของพระเจ้าจันทรภาณุและตามพรลิงค์(นครศรีธรรมราช)และเป็นราชาของพวกกะที่ปรากฏบนหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา เป็นกษัตริย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18

ชื่อผู้ศึกษา : พุทธทาสภิกขุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2491

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” สันนิษฐานว่าแต่เดิมชนพื้นเมืองเดิมอาศัยอยู่บริเวณเขาเพลา ต้นน้ำคลองไชยาและเคลื่อนย้ายมาผสมกับชาวอินเดียโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยทวารวดีพบพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีที่วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเววน วัดแก้ว วัดเวียง และวัดโพธาราม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นประติมากรรมที่นำเข้ามาจากนครปฐมสมัยนี้ชุมชนโบราณไชยานับถือเถรวาท ต่อมาในช่วงสมัยศรีวิชัยที่ปกครองโดยกษัตริย์ไศเลนทร์วงศ์ เมืองไชยามีภูเขาน้ำร้อนเป็นภูเขาประจำราชวงศ์ ถือเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญและทำการรวบรวมโบราณวัตถุที่พบในเมืองไชยา

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน, แหล่งค้าขาย/เมืองท่า/ตลาด

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองไชยา จากการพบโบราณวัตถุประเภทขวานหินขัดในบริเวณ ตำบลปากหมาก ที่อยู่บริเวณต้นแม่น้ำไชยาและกลองมโหระทึกจำนวน 1 ใบ (ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่พบที่ชัดเจน) ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าชุมชนโบราณไชยามีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่บริเวณป่าเขาด้านตะวันตก จากนั้นได้มีการเคลื่อนย้ายมาก่อตั้งชุมชนบริเวณแนวฝั่งริมแม่น้ำและสันทรายใกล้ชายฝั่งทะเลในสมัยหลัง โดยชุมชนน่าจะมีพัฒนาการมาจากกลุ่มชนชนชายฝั่งทะเลคือ พื้นที่บริเวณแหลมโพธิ์ซึ่งพบหลักฐานเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ถังของจีน  เครื่องแก้วอาหรับ เศษภาชนะดินเผาพื้นเมืองจำนวนมาก ลูกปัด ภาชนะแก้ว ซากหางเสือเรือ เรือ บ่อน้ำจืดหลายแห่งกำหนดชุมชนอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 จนกลายเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญ จากนั้นจึงเกิดการสร้างชุมชนขึ้นบริเวณพื้นที่สันทรายด้านในและตามแนวลำน้ำโดยพื้นที่บริเวณนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและศาสนาได้แก่ พื้นที่สันทรายบริเวณวัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง หลักฐานที่สนับสนุนว่าชุมชนโบราณไชยาเป็นเมื่องท่าที่มีความสำคัญคือ การพบหลักฐานประเภทโบราณวัตถุต่างถิ่นจำนวนมาก นอกจากจะเป็นเมืองท่าที่ติดต่อกับชุมชนต่างถิ่นแล้ว พบว่าเมื่องโบราณไชยาน่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนโบราณท่าชนะ ชุมชนโบราณพุนพิน ชุมชนโบราณเวียงสระ ตลอดจนอาจมีการติดต่อกับเมืองท่าทางฝั่งตะวันตก คือเมืองตะกั่วป่าโดยสามารถใช้เส้นทางลัดแนวเขาเพื่อติดต่อกันได้

ในส่วนทางด้านศาสนา พบโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ โดยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 -13 พบโบราณวัตถุประเภทพระพุทธรูปคล้ายคลึงกับศิลปะทวารวดี ที่แหล่งโบราณคดีวัดโพธาราม แหล่งโบราณคดีวัดเววน แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว  พบชิ้นส่วนธรรมจักรศิลาที่แหล่งโบราณคดีทุ่ง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 -13  นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพราหมณ์ เช่น กรอบประตู ธรณีหิน วิษณุ ศิวลึงค์ โยนิโทรณะ พระสุริยะเทพ พระคเณศ ที่ แหล่งโบราณคดีวัดใหม่ชลธาร วัดพระบรมธาตุไชยา วัดศาลาทึง วัดแก้ว วัดอิฐ เป็นต้น ทำให้สันนิษฐานว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 13 ชุมชนโบราณไชยามีการถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทและศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย 

ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 พุทธมหายานได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเจริญสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -15 ทำให้ศาสนาฮินดูค่อยๆลดบทบาทลง โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีวัดพระบรมธาตุไชยา แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว แหล่งโบราณคดีวัดหลง แหล่งโบราณคดีวัดเวียง เป็นต้น จากการพบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของไชยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 -18 ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าไชยาอาจเป็นศูนย์กลางหรือเมืองที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยศรีวิชัย

ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 -17 อาณาจักรตามพรลิงค์แห่งนครศรีธรรมราชรุ่งเรือง เมืองไชยาถูกลดบทบาทลงไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช กลายเป็นหนึ่งในเมือง 12 นักษัตรสันนิษฐานว่าคือ เมืองบันไทยสมอที่ใช้ตราลิง(ปีวอก)เป็นตราประจำเมือง จากหลักฐานที่พบในเมืองไชยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 สันนิษฐานว่าชุมชนไชยากลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยโบราณวัตถุที่พบในช่วงนี้ชี้ให้เห็นว่าชุมชนโบราณไชยามีการติดต่อกับ เขมรและสุโขทัย พบจารึกภายในชุมชนโบราณจำนวน 3 หลัก คือ หลักที่ 24 , 24ก. และหลักที่ 25 โดยหลักที่ 25 ทำให้ทราบว่าเมืองไชยา มีชื่อว่าเมืองครหิในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยมีมหาเสนาบดีคลาไนปกครองซึ่งได้รับพระราชโองการจากพระเจ้าศรีมัตไตรโลกยราชเมาลิภูผู้เป็หัวหน้าของประเทศครหิหล่อพระพุทธรูปขึ้น  ในพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 นี้พบว่าโบราณสถานบางแห่งได้มีการเข้าไปใช้พื้นที่และปรับปรุงพื้นที่และรับเอาพุทธเถรวาทแทนที่ศาสนาพุทธมหายาน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.1998 มีหลักฐานกล่าวถึงเมืองใต้การปกครองของอยุธยาบริเวณคาบสมุทรมาลายู 4 เมือง ได้แก่ นครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอก เมืองพัทลุง ไชยาและชุมพรเป็นหัวเมืองตรี ที่เมืองไชยาเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระมีราชทินนามว่าออกพระวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ถือศักดินา 5000 มีรับพระราชโองการให้สร้างป่าเป็นนา เมืองสำคัญ 4 เมือง คือ เมืองไชยา เมือท่าทอง เมืองไชยคราม เมืองเวียงและได้มีการฟื้นฟูบูรณะพระบรมธาตุไชยา ต่อมาในมัยกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.2310 เมืองไชยาถูกทัพพม่าเข้าโจมตีที่หมู่บ้านพุมเรียง ราษฎรในหมู่บ้านนรวมตัวกันต่อสู้ที่วัดอุบลจนแตกพ่าย ตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาจึงว่างลง หลวงสิทธินายเวรปลัดเมืองนครศรีธรรมราช(ปลัดหนู) ตั้งตนเป็นอิสระ(ชุมนุมเจ้านคร) ได้จัดคนมาเป็นเจ้าเมืองไชยาโดยตั้งเมืองขึ้นที่หมู่บ้านพุมเรียง ต่อมาในปี พ.ศ.2312 พระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาตีชุมชุมเจ้านครโดยยกทัพมาทางเรือ มาหยุดพักที่ทะเลพุมเรียงและสามารถยึดนครศรีธรรมราชไว้ได้ ในสมัย ร. 1 พ.ศ.2328 เกิดศึกพระเจ้าปะดุง พม่ายกทัพมารุกรานหัวเมืองทางใต้ เมืองไชยาถูกพม่าเผาเสียหายบ้านเมืองร้างผู้คน จนสงครามสงบผู้คน มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นบริเวณริมคลองบ้านกระแดะหรืออำเภอกาญจณดิษฐ์ในปัจจุบัน ในช่วงสมัย ร. 5 พ.ศ.2439 มีการเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล เมืองไชยาได้ขึ้นอยู่กับมณฑลชุมพร โดยรวมทั้งเมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองหลังสวนและชุมพร มีพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ต้นตระกูล ณ ระนอง ) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2442 โปรดให้รวมเมืองไชยา กาญจนดิษฐ์เข้าเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่าเมืองไชยา เป็นเมืองไชยาที่บ้านดอน ในสมัย ร. 6 ราวพ.ศ.2458 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา (บ้านดอน)เป็นเมืองสุราษฎร์ธานี เปลี่ยนจากชื่อมณฑลชุมพรเป็นมณฑลสุราษฎร์ ในปี พ.ศ.2459 ส่วนเมืองไชยาเก่าให้เปลี่ยนเรียกว่าอำเภอพุมเรียง และเปลี่ยนจากชื่ออำเภอพุมเรียงกลับมาเป็นอำเภอไชยาในปี พ.ศ.2480 ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2469 สมัยรัชกาลที่ 7 ได้ยุบมณฑลสุราษฎร์ให้ขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบเทศาภิบาลจึงถูกยกเลิก รัฐบาลจึงใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชอาณาจักรสยามใน ปี. พ.ศ.2476 สุราษฎร์ธานีจึงมีฐานะเป็นจังหวัด

ปัจจุบันเมืองไชยา เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางภาคใต้ของประเทศไทย

 

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

จดหมายเหตุราชวงศ์ซุ่ง กล่าวถึงเมืองการะฮี ว่าตั้งอยู่ทางภาคใต้ของกัมพูชาและเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัย (ผาสุข อินทราวุธ, 2554, ไม่ปรากฏเลขหน้า)

นิทานพื้นบ้าน เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “พ่อตาพัดหมัน” กล่าวว่า ปะหมอกับปะมัน สองคนพี่น้องเป็นชาวอินเดีย ใช้เรือเดินใบมาจนถึงเมืองไชยา ขึ้นบกด้วยข้าทาสบริวารที่บ้านนาค่ายตรงวัดหน้าเมืองในตำบลเลม็ด ปะหมอเป็นนายช่างมีความรู้ด้านวิศวกรรมก่อสร้างถูกตัดมือตัดตีนเมื่อสร้างพระบรมธาตุเสร็จ และทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย ที่ปะหมอถูกตัดมือตัดตีนเนื่องจากเจ้าเมืองไม่อยากให้ปะหมอไปสร้างโบราณสถานแห่งอื่นอีก เมื่อปะหมอตายแล้ว จึงได้คิดหล่อรูปพระอวโลติเกวรไว้เป็นเครื่องหมายแทนตัว ส่วนปะหมันได้ครองอยู่เกาะพัดหมันและตั้งรกรากอยู่กระทั้งเสียชีวิต สถานที่ปะหมันไปอาศัยอยู่นันเป็นพื้นที่ดอนน้ำไม่ท่วม มีนาล้อมรอบ เนือที่ 1 ไร่เศษ สมัยก่อนมีความศักสิทธิ์มาก ชาวบ้านเคารพนับถือ คณะมโนราห์เดินทางผ่านต้องรำถวาย

บางตำนานก็กล่าวว่าชาวอินเดียที่มาไชยาในครั้งนั้นมี 4 คนพี่น้อง คือ ปะหมอ ปะหมัน ปะเว ปะหุม โดยปะหมอเป็นช่างฝีมือดีเป็นลูกของศรีวิชัย เมือสร้างพระบรมธาตุเสร็จ ถูกตัดมือตัดตีนและทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย สิ่งก่อสร้างที่ปะหมอสร้างอีกได้แก่ วัดแก้วและวัดหลง วัดแก้วมีลายแทงและปริศนาว่า “วัดแก้วศรีธรรมโศกราชสร้างแล้ว ขุดแล้วเรืองรอง สี่เท้าพระบาท เหยียบปากพะเนียงทอง ผู้ใดคิดต้อง กินไม่รู้สิ้นเอย”

สถานที่อยู่อาศัยของปะหมอนั้น สันนิษฐานว่าคือบริเวณต้นสำโรงใหญ่ข้างวัดเวียง บริเวณที่ตั้งศาลปะหมอ  ถือเป็นสถานที่ศักสิทธิ์จนถึงปัจจุบัน (ประทุม ชุมเพ็งพันธ์, 2519,20 -21)

 

จารึกที่เกี่ยวข้อง :

1.       จารึกหลักที่ 24 (สฎ.24)

สถานที่พบ :  วางนอนอยู่บริเวณศาลปะหมอไปทางทิศเหนือราว 3 ศอก

อายุสมัย :  พุทธศักราช 1773 ?

ภาษา : จารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต มี 2 ด้าน ด้านแรก 16 บรรทัด

วัสดุที่ทำ : สลักบนหินชนวนรูปใบเสมา ขนาดกว้าง 47 เซนติเมตร สูง 181 เซนติเมตร หนา 14 เซนติเมตร

คำแปล : มี 2 สำนวน

สำนวนแรกแปลโดย ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ ความว่า

สวติ

พระเจ้าผู้ครองเมืองตามพรลิงค์ ทรงประพฤติประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา พระองค์สืบตระกูลจากตระกูลอันรุ่งเรืองคือ ปทุมวงศ์ มีรูปร่างเหมือนพระกามะ อันมีรูปงามราวพระจันทร์ ทรงฉลาดในศาสตร์คล้ายพระธรรมโศกราชเป็นหัวหน้าของตระกูล.... ทรงพระนามศรีธรรมราช

ศรีสวสติ

พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ เป็นผู้อุปถัมภ์ตระกูลปทุมวงศ์ พระหัตถ์ของพระองค์มีฤทธิ์อำนาจ....ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศลซึ่งพระองค์ได้กระทำต่อมนุษย์ทั้งปวง ทรงเดชาภาพเท่าพระอาทิตย์ พระจันทร์และมีเกียรติอันเลื่องลือในโลกทั้งปวง ทรงพระนามว่าพระเจ้าจันทรภานุ ศรีธรรมราช เมื่อกลียุค 4332......... (พุทธศักราช 1773) (ศิลปากร,กรม, 2529 เล่ม 4,146)

สำนวนที่สอง แปลโดย ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร

สวัสดี พระผู้เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์ ทรงประทานความดีงามอันเลิศเหมือนพระอินทร์ ทรงพระราชสมภพเพื่อประชาชนที่ถูกชนชาติต่ำปกครองมาแล้วให้สว่างรุ่งเรือง จริงอยู่พระองค์เป็นธรรมราชเหมือนพระจันทร์ พระอาทิตย์และกามเทพ อย่างพร้อมบูรณ์ ทรงพระปรีชา ฉลาดในราชนิติเที่ยบเท่าพระเจ้าธรรมโศก ทรงเป็นใหญ่เหนือราชวงศ์ทั้งหมด

สวัสดี พระองค์เข็มแข็ง เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์ ทรงปกครองปัทมวงศ์จนถึงถูกขนานพระนามว่า ภีมเสน ได้ทรงเสด็จอุบัติมาเพราะอานุภาพแห่งบุญกุศลของมนุษย์ทั้งหลาย (เป็นบุญของมนุษย์ที่ได้พระราชาองค์นี้)

พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระเกียรติแผ่ไปทั่วโลก เพียงดั่งอานุภาพของพระจันทร์และพระอาทิตย์จึงทรงพระนามาภิไธยราชฐานันดรว่า จันทรภาณุ เป็นธรรมราชาผู้ทรงศิริ

ขออำนวยพร อันเป็นอมตะด้วยความภักดี ซึ่งเหมือนสลักไว้ในแผ่นหิน เมื่อปีกลียุคล่วงแล้วได้ 4332 (ประเสริฐ ณ นคร, 2521,450 – 451)

 

2.       จารึกหลักที่ 24 (ก) หรือ สฏ. 3

สถานที่พบ :  ปักบริเวณใกล้กำแพงเมือง

อายุสมัย : กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18

ภาษา : จารึกอักษรขอม ภาษาบาลี มี 1 ด้าน  15 บรรทัด

วัสดุที่ทำ : สลักบนหินชนวน รูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 31 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร

คำแปล : แปลโดย นายชะเอม แก้วคล้าย

 

....อีกอย่างหนึ่ง...(ชน) เหล่านั้นผู้มีเครื่องประดับ...(ชน)ทั้งสิบยังวิชา(ให้เกิด)ด้วยเจตนาอันเป็นที่รักต่อพระชินะผู้ประเสริฐในกาลทั้งปวง...ส่วนทั้งห้าเป็นความรู้ของพระผู้เป็นที่รัก ผู้มาสู่สังกัสสนคร....โดยประการทั้งปวง ...ชนทั้งเก้าเหล่านั้นเป็นผู้มีปัญญามีความปราถนาตามวาระ...ทั้งแปด ทั้งสิบเป็นผู้มีศรัทธาตามที่ตนคิดไว้แล้ว...บางครั้ง...ทั้งสิบและทั้งแปด...อีกอย่างหนึ่ง(ชน)ทั้งหลายผู้ชุมนุมกันทั้งห้าสิบห้าคน เป็นผู้เปล่งวาจาแล้ว ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ดุจพระผู้บริสุทธิ์ที่หาความเศร้าหมองมิได้....วัตถุทั้งสิบพร้อมภัณฑ์ต่างๆที่มิได้กำหนดเป็นวัตถุจำนวนมากเพื่อทาน...ผู้มีบุญแม้ทำทานทั้งปวงด้วยความเอื้อเฟื้อ ย่อมกล่าวถึงความน่าเคารพของพระศาสดาผู้เป็นธรรมราชา...คณะเหล่านั้น...ผู้คล้อยตามบริษัทได้สดับข่าวพระนาถแล้ว....(ศิลปากร,กรม,2529 เล่ม 4 , 149)

 

 

3.       จารึกหลักที่ 25 จารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรก(สำริด)ปางมารวิชัย

สถานที่พบ :  พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา

อายุสมัย : ระบุศักราช พ.ศ.1726

ภาษา : จารึกเป็นภาษาเขมร

วัสดุที่ทำ : จารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรก(สำริด)ปางมารวิชัย

คำแปล :

“.....ศักราช 1105 เถาะนักษัตร มีพระราชโองการ กัมรเดงอัญมหาราช ศรีมัตไตรโลกยราช เมาลิภูษนวรรมเทวะ ขึ้น 3 ค่ำ เชฏฐมาส (เดือน 7) วันพุทะ ให้มหาเสนาบดีคลาไนผู้รักษาเมืองครหิ อาราธนา มรเตง ศรีญาโน ให้ทำ (พระพุทธรูป) ปฎิมากรนี้สำริดมีน้ำหนัก 1 ภาระ 2 ตุละ ทองคำ (ที่ปิด) มีราคา 10 ตำลึง สถาปนา (พระพุทธรูปนี้) ให้มหาปวงชนผู้ที่มีศรัทธาอนุโมทนาแลบูชานมัสการอยู่ที่นี่ เพื่อจะได้ถึงสรรเพ็ชญาณ...” (ศิลปากร,กรม, 2529 เล่ม 4 ,120)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร.(2522) การขุดแต่งโบราณสถานวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร

กรมศิลปากร. (2524). การขุดแต่งโบราณสถานวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

กรมศิลปากร (2525). โครงการขุดแต่งและบูรณะวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

กรมศิลปากร. (2526). รายงานการปฎิบัติงานโครงการขุดแต่งและบูรณะวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีงบประมาณ 2526. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

กรมศิลปากร. (2527). รายงานการปฎิบัติงานโครงการขุดแต่งและบูรณะวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีงบประมาณ 2527. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

กรมศิลปากร. (2529). จารึกในประเทศไทยเล่มที่ 4 . กรุงเทพฯ : กองหอสมุดแห่งชาติ.

เขมชาติ เทพไชย.(2523, กรกฎาคม). “การสำรวจขุดค้นวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ศิลปากร, 24 (3), 13 -23

เขมชาติ เทพไชยและภุชชงค์ จันทวิช. (2525, พฤษภาคม). “หลักฐานใหม่เกี่ยวกับการเดินเรือสมัยศรีวิชัยที่แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรธานี” ศิลปากร,  26 (2), 29 - 46

เขมชาติ เทพไชย.(2525). “The Excavation at Leam pho; A Srivijaya entrepot” ใน SPAFA : Final report Consultative Workshop on Archaeology and Environmental Studies on Srivijaya (T.W.3). Bangkok : Southeast Asian Ministers of Education Organization.

เขมชาติ เทพไชย (2525). การสำรวจขุดค้นและศึกษาทางด้านโบราณคดีเพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องศรีวิชัย. ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

เขมชาติ เทพไชย แปล. Shoji Ito เขียน. (2527, พฤศจิกายน). “ข้อสังเกตทางด้านประติมานวิทยาของพระโพธิสัตว์ที่พบที่ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี Remarks on the Iconography of  Bodhisattava Images found in Chaiya, Southern Thailand” ศิลปากร . 28 (5), 48 -55

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร. (2526).รายงานการสำรวจขุดค้นทางด้านโบราณคดี บริเวณแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี.  กรุงเทพ : กรมศิลปากร.  

จันทร์จิรายุ รัชนี.(2527, สิงหาคม). “มารู้เรื่องศรีวิชัยกันเสียที เรื่องอาณาจักรศรีวิชัย” ศิลปวัฒนธรรม. 5 (10), 62 – 73

จันทร์จิรายุ รัชนี.(2529,พฤศจิกายน). “ศรีวิชัยที่ไชยา” ศิลปวัฒนธรรม. 8 (1) , 86-95

ชาคริต สัมธิ์ฤทธิ์.(2544, มีนาคม – เมษายน). “การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี” ศิลปากร . 54(2), 28-47

เด่นดาว ศิลปานนท์. (2544, มกราคม – กุมภาพันธ์). “ข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการครองหนังกวางของพระโพธิ์สัตว์อวโลติเกศวรอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี”. ศิลปากร. 47 (1) , 62 -73

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ.(2542). “ชุมชนโบราณไชยา” ใน สารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 5. กรุงเทพ : ธนาคารไทยพาณิชย์, หน้า 2195 - 2218

ณัฎฐภัทร นาวิกชีวิน. (2524). “เครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ของปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ณัฎฐภัทร จันทวิช และภุชชงค์ จันทวิช. (2525). ความสัมพันธ์ทางด้านเครื่องถ้วยจีนที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัย.ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ณัฎฐภัทร จันทวิช และภุชชงค์ จันทวิช. (2526, กุมภาพันธ์). “เครื่องถ้วยจีนจากแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์และป่ายาง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรธานี” ศิลปวัฒนธรรม. 4 (4), 74 – 82. 

บรรจง วงศ์วิเชียร (2525). “การสำรวจ ขุดแต่ง เพื่อทำหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องศรีวิชัย” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

บรรจบ เทียมทัด.(2526, กรกฎาคม). “ไชยาเคยเป็นราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัย” ศิลปากร. 27 (3), 20 -24

ประเสริฐ ณ นคร. (2521). “จารึกที่พบในภาคใต้” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์.(2513). ไชยา – สุราษฎร์ธานี. กรุงเทพ : กรุงเทพการพิมพ์

ผาสุข อินทราวุธ. (2554) . เอกสารประกอบการเรียนวิชาสัมมนาประวัติศาสตร์ศรีวิชัย สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. เอกสารอักสำเนา ไม่ปรากฏเลขหน้า

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว.(2555, ตุลาคม – ธันวาคม).รูปแบบและประติมานวิทยาพระพุทธรูปจากวัดแก้วเมืองไชยา.เมืองโบราณ. 38 (4), 138 – 147.

นงคราญ ศรีชาย. (2543). โบราณคดีศรีวิชัย : มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน. นครศรีธรรมราช : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช

ล้อม เพ็งแก้ว.(2543, ตุลาคม – ธันวาคม). “วิเคราะห์วันเดือนปีในจารึกฐานพระพุทธรูปจากวัดหัวเวียง ไชยา” เมืองโบราณ. 26 (4), 119 – 122.

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.(2526, กรกฎาคม). “สถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้” ศิลปากร. 27 (3), 17 – 25.          

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.(2549, ตุลาคม – ธันวาคม). “การออกแบบศาสนสถานสกุลช่างทวารวดี เขมรและชุมชนภาคใต้ไชยาในประเทศไทย” เมืองโบราณ. 27(4), 21 -40

ข่าวที่เกี่ยวข้อง