โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022
ที่ตั้ง : ม.4 ต.กำพวน อ.สุขสำราญ
อำเภอ : สุขสำราญ
จังหวัด : ระนอง
พิกัด DD : 9.379279 N, 98.422087 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองกำพวน, คลองพรุใหญ่, คลองเสียด
พื้นที่ด้านทิศตะวันตกติดกับบ่อกุ้ง ถัดจากบ่อกุ้งเป็นป่าชายเลน และทะเลอันดามัน ภูเขาทองอยู่ห่างจากทะเลอันดามันประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่ด้านทิศตะวันออกติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 700 ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา กับอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง แหล่งโบราณคดีภูเขาทองอยู่ตอนใต้ของจังหวัดระนองอยู่ห่างจาก จังหวัดระนองประมาณ 98 กิโลเมตร
ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของเอกชน
ภูเขาทองมีคลองนาพรุใหญ่ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ คลองเสียดไหลผ่านทิศตะวันตก คลองกำพวนไหลผ่านด้านทิศใต้ คลองเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อออกทะเลอันดามันได้ และยังใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านบางกล้วยนอก และเขากล้วย สามารถเรียกชุมชนโบราณบริเวณนี้ได้ว่า “กลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง”
พื้นที่โดยรอบภูเขาทองปัจจุบัน ด้านตะวันตกเป็นป่าชายเลน ทิศเหนือเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่รกร้าง และชุมชน ทิศตะวันออกติดถนนเพชรเกษมและชุมชน (มีชุมชนหนาแน่นทั้ง 2 ฝั่งถนนเพชรเกษม) และทิศใต้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่รกร้าง บนภูเขาเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนหลายโฉนด ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ทำเกษตรกรรม เช่น สวนยาง สวนทุเรียน รวมทั้งสวนผลไม้ต่างๆ
พื้นที่โดยรอบภูเขาทองมีหลุมถูกลักลอบขุดหาลูกปัดเป็นหลุมเป็นบ่อกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อมีการตัดถนนเพชรเกษมผ่านทำให้พื้นที่แหล่งโบราณคดีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยพบกระจายตัวของชุมชนอยู่ทั้งสองฝั่งถนน พื้นที่ที่พบกิจกรรมการอยู่อาศัยหนาแน่นจะอยู่บริเวณโดยรอบภูเขาทอง และจะเริ่มพบเบาบางลงเมื่อห่างจากตัวภูเขา การดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีสำหรับแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ประสบปัญหาในการเลือกพื้นที่ขุดค้นอย่างมาก เนื่องจากแหล่งโบราณคดีถูกราษฎรลักลอบมาเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 30 ปี นอกจากนี้ยังถูกเอกชนครอบครองอยู่เกือบทั้งหมด
ทะเลอันดามัน, คลองกำพวน, คลองพรุใหญ่, คลองเสียด
ภูเขาทอง เป็นภูเขาลูกโดดริมถนนเพชรเกษม ชายฝั่งทะเลอันดามัน ลักษณะทางธรณีวิทยาของภูเขาเป็นภูเขาหินตะกอนในกลุ่มหินแก่งกระจาน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน ล้อมรอบด้วยตะกอนที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึงยุดควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : เรไร นัยวัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ขุดค้นโดยสำนักศิลปากรที่ 15 (ภูเก็ต) จำนวน 2 หลุมขุดค้น (สำนักศิลปากรที่ 15 กรมศิลปากร 2548)ชื่อผู้ศึกษา : ปรีชา นุ่นสุข, วัณณสาส์น นุ่นสุข
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ปรีชา นุ่นสุข และวัณณสาส์น นุ่นสุข ได้เขียนบทความเรื่อง “ภูเขาทอง: สถานีการค้ายุคต้นบนฝั่งอันดามัน.” ตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2550) หน้า 70-78.ชื่อผู้ศึกษา : นฤมล กางเกตุ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องประดับ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
นฤมล กางเกตุ ได้ทำวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตในเรื่อง “เครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองและบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดระนอง” ซึ่งได้จำแนกประเภทของเครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีและรอบๆแหล่งโบราณคดีทั้งจากการสำรวจและขุดค้นชื่อผู้ศึกษา : ปิลันธน์ ไทยสรวง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ปิลันธน์ ไทยสรวง ทำวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตในเรื่อง “การศึกษาภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลในภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ของประเทศไทย” ซึ่งได้กล่าวถึงประเภทของเครื่องปั้นดินเผาที่พบที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทองว่ามีความเก่าแก่ยาวไกลไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 5จากหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบ สามารถกล่าวได้ว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นเมืองท่ายุคแรก ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการติดต่อทางการค้ากับอินเดียอย่างชัดเจน
จากลักษณะทางกายภาพและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของแหลมมลายูอันเป็นจุดปะทะของเส้นทางการเดินเรือนั้น พ่อค้าชาวอินเดียได้พากันมาตั้งนิคมการค้าตามเมืองท่าต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งวรรณกรรมโบราณของอินเดียเรียกว่าดินแดนสุวรรณภูมิ ดังได้ปรากฏสินค้าจากเมืองท่าต่าง ๆ ของอินเดียที่มีการตั้งสถานีการค้าของโรมัน จึงมีทั้งสินค้าของอินเดียและโรมันรวมทั้งสินค้าเลียนแบบโรมันหลั่งไหลเข้ามายังเมืองท่าโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะมีพ่อค้าชาวอินเดีย พ่อค้าซิเถียนแล้ว อาจมีพ่อค้าชาวโรมันเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง รวมแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง อันประกอบด้วย บ้านบางกล้วยนอก และเขากล้วย(บางคลัก) เรียกรวมว่า กลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง นั้นในพื้นที่แถบนี้พบลูกปัดทั้งแก้ว และหินเป็นจำนวนมาก และมีหลักฐานมากพอที่จะกล่าวได้ว่า เป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากพบก้อนแก้ว หิน วัตถุดิบในการทำลูกปัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งลูกปัดแก้วที่หลอมรวมติดกันเป็นก้อน และลูกปัดหินที่ยังทำไม่เสร็จเป็นจำนวนมาก ลูกปัดแก้วที่พบส่วนใหญ่เป็นลูกปัดสีเดียวที่เรียกว่า “ลูกปัดอินโดแปซิฟิก” ส่วนลูกปัดหินพบหินคาร์เนเลียน หินอาเกต เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้พบลูกปัดที่ระบายสีด้วยกรดลงบนเนื้อหินจนเกิดเป็นลายแบบที่เรียกกันว่า etched beads รวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ยังพบลูกปัดทองคำที่ทำโดยใช้เทคนิคด้วยการนำเม็ดทองเล็ก ๆ มาติดไว้ (Granulated gold beads) เหมือนกับที่พบที่อิหร่านด้วย ในพื้นที่กลุ่มแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ พบสิงห์ครึ่งตัวอยู่ในท่าหมอบทำจากหินควอทซ์ (Quartz) ในประเทศไทยพบสิงห์ทำจากหินคาร์เนเลี่ยนที่ บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี และที่ท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปสิงห์ที่แกะสลักจากหินต่าง ๆ พบเป็นจำนวนมากที่เมืองตักษิลาแล้ว ยังพบอยู่ในเมืองโบราณในภูมิภาคตะวันตกในสมัยราชวงศ์สาตวาหนะอีกด้วย เช่น ที่เมืองสัมภร (Sanbhar) เมืองนาสิก(Nasik) ในประเทศพม่าพบหินคาร์เนเลียนรูปสิงโตและเสือ จำนวนหลายตัวที่เมืองฮาลิน และพินกะนะด้วย โบราณวัตถุที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่พบได้แก่ จี้หรือหัวแหวนแผ่นหินคาร์เนเลียนรูปกลมรีขนาดเล็กสลักเป็นรูปสัตว์ เช่น ไก่ ม้า คนขี่ม้ารวมถึงรูปบุคคลแบบกรีก-โรมัน ซึ่งพบตามเมืองท่าโบราณทั้งในโลกตะวันตก และตะวันออกที่มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรโรมัน และพบแพร่หลายอยู่ตามเมืองท่าโบราณของอินเดียที่มีการติดต่อค้าขาย และมีการตั้งถิ่นฐานของชาวโรมันช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-7 หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการติดต่อกับอินเดียอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ ภาชนะดินเผาแบบรูแลตด์ (rouletted ware) ภาชนะดินเผาประเภทนี้เรียกตามเทคนิคที่ใช้ตกแต่งผิวภาชนะโดยการกลิ้งล้อที่เป็นฟันเฟืองลงบนผิวภาชนะขณะที่ยังไม่แห้ง ทำให้เกิดรอยกดลึกอย่างเป็นระเบียบบนผิวภาชนะ เนื้อดินเนียนละเอียดสีเทาขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเร็ว ส่วนมากทาน้ำดินสีดำทั้งด้านในและด้านนอกมีการขัดผิวจนขึ้นเงา ภาชนะดินเผาชนิดนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นแหล่งผลิตที่แน่ชัดนัก แต่อาจจะผลิตที่ Tamil Nadu ในประเทศอินเดีย ภาชนะดินเผาแบบรูแลตด์ (rouletted ware)
นอกจากจะพบกระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของอินเดียที่สำคัญเช่นที่ Arikamedu แล้ว ยังพบตามแหล่งโบราณคดีในประเทศศรีลังกา บังกลาเทศ และกระจายตัวมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในประเทศไทยนอกจากพบเป็นจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทองแล้ว ยังพบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพรด้วย สำหรับอายุภาชนะดินเผาประเภทนี้ยังมีการกำหนดอายุที่ไม่ตรงกันนักแต่มีอายุโดยประมาณ 2,000 ปีมาแล้วจากหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ที่พบสามารถกล่าวได้ว่าแหล่งโบราณคดีภูเขาทองมีการติดต่อกับดินแดนโพ้นทะเล ที่มีการเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าพื้นเมืองในแถบนี้ได้แก่ เครื่องเทศ ของป่า อาจรวมไปถึงดีบุกซึ่งเป็นโลหะที่มีอยู่มากมายในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญที่พบอีกแหล่งหนึ่งในประเทศไทย สำหรับอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะมีการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนืองยาวนาน เนื่องจากมีการขุดค้นทางโบราณคดีในชั้นดินบน ๆ พบเครื่องถ้วยเปอร์เซีย หรือบาสราแวร์ (Basra ware) ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาจากตะวันออกกลางมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ดังนั้นในเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้จึงน่าจะมีอายุประมาณ 1,200-2,000 ปีมาแล้ว
นฤมล กางเกตุ. “เครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองและบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดระนอง” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
ปรีชา นุ่นสุข และวัณณสาส์น นุ่นสุข. “ภูเขาทอง : สถานีการค้ายุคต้นบนฝั่งอันดามัน” เมืองโบราณ 33, 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2550) : 70-78.
ปิลันธน์ ไทยสรวง. “การศึกษาภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลในภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีภูเขาทองหมู่ 4 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง. ภูเก็ต : กรมศิลปากร, 2548.