โนนแก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : บ้านคูเมือง

ที่ตั้ง : ม.7 บ้านคูเมือง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ

ตำบล : คูเมือง

อำเภอ : วารินชำราบ

จังหวัด : อุบลราชธานี

พิกัด DD : 15.095204 N, 104.876775 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำโดมใหญ่, ห้วยยอด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โนนแก อยู่ห่างจากบ้านคูเมืองมาทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ

จากตัวอำเภอวารินชำราบ ใช้ถนนกันทรลักษณ์ (ทางหลวงหมายเลข 2178) มุ่งหน้าทิศใต้ (มุ่งหน้าตำบลคูเมือง หรือมุ่งหน้าอำเภอกันทรลักษณ์) ผ่านแยกที่ตัดกับถนนเลี่ยงเมืองอุบลไปประมาณ 4.7 กิโลเมตร พบสี่แยก เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเข้าหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านคูเมือง ไปตามถนนประมาณ 3.3 กิโลเมตร ถึงบ้านคูเมือง พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนน (ผ่านชุมชนบ้านคูเมือง ออกสู่ด้านทิศตะวันออกของชุมชน) ประมาณ 1.4 กิโลเมตร พบสามแยกให้เบี่ยงซ้ายไปตามถนนลูกรัง (ตามป้าย “โบราณสถานโนนแก”) ประมาณ 450 เมตร พบซอยด้านซ้ายมือ เลี้ยวไปตามถนนประมาณ 230 เมตร (ตามป้าย “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เทพนิมิตร”) ถึงโบราณสถานโนนแก  

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานโนนแกเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 126ง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2548

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานโนนแก ตั้งอยู่บนเนินดินที่เรียกว่า “โนนปู่ตา” ท่ามกลางที่ราบที่เป็นพื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ (Low Terrace) ของลำน้ำเก่า ห่างจากบ้านคูเมือง อันเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบและชุมชนปัจจุบัน มาทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากห้วยยอดหรือห้วยพับ (เป็นลำน้ำสาขาของลำโดมใหญ่และแม่น้ำมูล และเป็นลำน้ำที่หล่อเลี้ยงคูเมืองของบ้านคูเมือง) มาทางทิศใต้ประมาณ 1.1 กิโลเมตร ห่างจากลำโดมใหญ่มาทางทิศตะวันตกประมาณ 11 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำมูลมาทางทิศใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร

สภาพทั่วไปบริเวณโบราณสถานโนนแกเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ประกอบไปด้วยซากโบราณสถานจำนวน 4 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีไม้ยืนต้นและวัชพืชขึ้นอยู่โดยรอบ

ด้านทิศใต้ติดกับสวนยูคาลิปตัส ส่วนด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ติดกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านคือที่นาและพื้นที่ปลูกพืชผักชนิดต่างๆ เช่น กล้วย มะขาม และมะละกอ ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเนินโบราณสถานเป็นเนินดินสูงมีป่าไม้ขึ้นรกทึบอีกเนินหนึ่งด้วย

นอกจากตัวโบราณสถานแล้วยังพบหนองน้ำ สันนิษฐานว่ามีอายุสมัยเดียวกับโบราณสถาน คือ หนองน้อย เป็นหนองน้ำขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังมีหนองน้ำสมัยเขมร อีกแห่งหนึ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ห่างจากโบราณสถานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

120 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยยอด, ลำโดมใหญ่, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

โนนแกตั้งอยู่บนพื้นที่ราบที่เป็นพื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ (Low Terrace) ของลำน้ำเก่า เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพายุคควอเทอร์นารี โดยเฉพาะแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาต่างๆ ลักษณะดินเป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi-et series : Re) มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยเหล็ก, สมัยเขมร, สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

อายุทางโบราณคดี

2,000 ปีมาแล้ว ถึงพุทธศตวรรษที่ 19, พุทธศตวรรษที่ 24

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ ชูโชติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายอนันต์ ชูโชติ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี และคณะ ได้สำรวจพบโบราณสถานโนนแก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า โนนปู่ตา หรือ โนนเมือง ลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 180 เมตร ยาว 300 เมตร บนเนินปรากฏซากโบราณสถานก่อสร้างด้วยศิลาแลงขนาด 35x50 เมตร มีร่องรอยการขุดทำลายอย่างมาก ห่างออกไปด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้จากโบราณสถานประมาณ 20 เมตร พบตะกรันที่เกิดจากการถลุงโลหะ ห่างออกไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเนินโบราณสถาน มีหนองน้ำชื่อ หนองน้อย ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากโบราณสถานประมาณ 1 กิโลเมตร มีสระน้ำโบราณชื่อ หนองกู่

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา ได้มอบหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ขุดแต่งโบราณสถานโนนแก แต่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงต้องหยุดงานไว้ก่อน

ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ปุราณรักษ์, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หจก.ปุราณรักษ์ ดำเนินการขุดแต่งและขุดค้นโบราณสถานโนนแกที่ค้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2538 โดยความควบคุมของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานโนนแก

ชื่อผู้ศึกษา : สิริพัฒน์ บุญใหญ่

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ศึกษาการปลงศพ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สิริพัฒน์ บุญใหญ่ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “ประเพณีการฝังศพที่แหล่งโบราณคดีโนนแก บ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี” โดยเป็นการศึกษาความเชื่อและประเพณีการฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดี พ.ศ.2540-2541 ที่แหล่งโบราณคดีโนนแก และศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานโนนแก

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, แหล่งผลิต, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนแกใน พ.ศ.2540 (หจก.ปุราณรักษ์ 2541 ; ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ 2541) พบร่องรอยการใช้พื้นที่ของคนสมัยโบราณ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นชั้นวัฒนธรรม 4 สมัย ได้แก่

ชั้นวัฒนธรรมที่ 1 เป็นการอยู่อาศัยสมัยแรกของพื้นที่นี้ หลักฐานที่พบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน สีส้มแดง สีน้ำตาลเข้ม สีขาวนวล ขึ้นรูปด้วยมือ ตกแต่งผิวด้านนอกด้วยลายเชือกทาบ ปะปนในชั้นดินการอยู่อาศัย

ส่วนลักษณะภาชนะดินเผาชิ้นสำคัญคือ

1.ภาชนะทรงอ่าง ปากโค้งเข้า ขอบปากตัดเรียบ เนื้อหยาบผสมแกลบข้าว ผิวด้านนนอกสีดำ บางใบตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ สีขาวนวล

2.ภาชนะทรงชามอ่าง ปากเอนเข้าเล็กน้อย ขอบปากกลมมน ทำสันนูนใต้ขอบปากด้านใน สีส้มนวล ทาน้ำดินสีส้ม เนื้อหยาบผสมแกลบข้าว และมีแบบปากเอนออก ด้านนอกตกแต่งด้วยลายขูดขีด เนื้อหยาบผสมกรวดทราย คล้ายกับภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ด

3.ภาชนะทรงหม้อปากกว้าง พบในปริมาณค่อนข้างมาก สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หุงต้มอาหาร ภาชนะทรงนี้ลักษณะปากเอนออก ขอบปากมน สีส้มแดง สีน้ำตาล สีเทา สีนวล ทาน้ำดินสีแดง ด้านนอกบริเวณลำตัวตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ส่วนใหญ่มีเนื้อหยาบผสมกรวดทราย และภาชนะอีกลักษณะหนึ่งที่มีการเตรียมดินปั้นโดยการผสมแกลบข้าว ผิวภาชนะมีสีส้มนวล ขาวนวล ซึ่งเป็นรูปแบบของภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการฝังศพครั้งที่ 2 (Seocndary burial) โดยเป็นการบรรจุกระดูกผู้ตายลงในภาชนะดินเผาทรงไหแล้วฝังลงในพื้นดิน  ซึ่งเป็นประเพณีการฝังศพที่พบมากในชุมชนโบราณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี พบภาชนะที่เกี่ยวกับการฝังศพครั้งที่ 2 (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ 2541 : 40-46 ; สิริพัฒน์ บุญใหญ่ 2543 : 185-21) ดังนี้

1.ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่รูปไข่ สูงประมาณ 1 เมตร ปากกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 40 เซนติเมตร ส่วนก้นสอบเข้าจนปลายแหลมมน ผิวสีส้มนวล เนื้อดินหยาบสีดำ ส่วยกลางลำตัวถึงก้นตกแต่งผิวด้านนอกด้วยลายเชือกทาบ ภายในภาชนะใบนี้บรรจุสิ่งของต่างๆ ดังนี้

            - ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ไม่สมบูรณ์ เป็นเศษกระดูกปะปนอยู่กับดิน พบเป็นชิ้นส่วนกระดูกแขน ขา ลตัว และกะโหลกศีรษะ 2 กะโหลก

            - กำไลสำริด 3 วง ลักษณะเป็นกำไลที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ตอน

            - ภาชนะดินเผาเป็นหม้อรูปทรงแป้น ลักษณะปากผายออก คอหักเฉียง ก้นมีเชิง ผิวด้านนอกสีส้ม ผิวด้านนอกตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 12 เซนติเมตร สูง 11 เซนติเมตร ขึ้นรูปด้วยมือ ภายในพบเศษกระดูกสัตว์ชิ้นเล็กๆ พบอยู่เหนือกระดูกมนุษย์ (ลักษณะภาชนะคล้ายกับที่เคยพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จ.อุบลราชธานี ที่กำหนดอายุได้ 1,800-1,500 ปีมาแล้ว)

            - ภาชนะดินเผาทรงหม้อ รูปทรงแป้น ปากผายออก คอหักเฉียง ก้นมีเชิง ผิวด้านนอกสีส้มมีลายเชือกทาบทั้งใบ เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 12 เซนติเมตร สูง 13 เซนติเมตร ขึ้นรูปด้วยมือ พบอยู่อยู่เหนือกระดูกมนุษย์ (ลักษณะภาชนะคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาที่เคยพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง)

            - ภาชนะทรงหม้อ ก้นมีเชิง ปากและคอโค้งเข้า ผิวนอกสีส้มแดง ผิวนอกเป็นลายเชือกทาบทั้งใบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร สูง 18 เซนติเมตร พบว่าวางอยู่บนสุดภายในภาชนะใบใหญ่ (ลักษณะภาชนะคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาที่เคยพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง) 

2.ภาชนะทรงอ่างก้นกลม ปากกว้าง สีส้ม ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ สูง 15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 40 เซนติเมตร จำนวน 2 ใบ และยังพบชิ้นส่วนคล้ายฝาปิดภาชนะด้วย (คล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาที่เคยพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง)

3.ภาชนะทรงหม้อปากผาย ก้นกลม สูง 50 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปาก 30 เซนติเมตร มีฝาครอบปิด จำนวน 1 ใบ ภายในบรรจุภาชนะดินเผาขนาดเล็กทรงหม้อมีเชิง ปากผายออก สีส้มนวล ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ (คล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาที่เคยพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง)

ประเพณีและหลักฐานการฝังศพ รวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ คล้ายคลึงกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง  อำเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยกสิกรรมยุคแรกๆ หรือสมัยโลหะตอนปลายที่มีการติดต่อกับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีอายุอยู่ในช่วง 2,800-2,500 ปีมาแล้ว (ทรรศนะ โดยอาษา 2535 : 11)

เมื่อพิจารณาจากภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ดที่พบในชั้นวัฒนธรรมนี้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 2,000-1,300 ปีมาแล้ว นั้น ก็สันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีการอยู่อาศัยมาเมื่ออายุประมาณ 2,000-1,500 ปีมาแล้ว หรือในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

ชั้นวัฒนธรรมที่ 2 เป็นการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจากชั้นวัฒนธรรมที่ 1 ยังคงพบภาชนะดินเผาสีส้มแดง สีส้มนวล มีการตกแต่งผิวด้านนอกการทาน้ำดินสีแดง ลายเชือกทาบ ที่ต่อเนื่องมาจากชั้นวัฒนธรรมที่ 1 ภาชนะมีเนื้อหยาบ ผสมกรวดทรายและผสมแกลบข้าวแบบภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ด แต่พบปริมาณน้อยลงกว่าสมัยก่อนหน้า ในขณะเดียวกันก็พบภาชนะดินเผาแบบใหม่ เช่น ภาชนะทรงคณโฑ และภาชนะที่มีการเซาะร่องที่ปาก ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14

ภาชนะอื่นๆที่พบในชั้นวัฒนธรรมสมัยนี้ ได้แก่ ภาชนะทรงอ่าง ทรงหม้อปากแคบ ทรงหม้อปากกว้าง ทรงหม้อปากผาย เป็นต้น

ชั้นวัฒนธรรมที่ 3 ภาชนะดินเผาในสมัยนี้มีเนื้อละเอียดมากขึ้น กลุ่มภาชนะเนื้อหยาบที่ผสมกรวดและแกลบข้าวมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปรากฏภาชนะรูปแบบใหม่ คือ ภาชนะทรงคณโฑ ปากผาย ขอบปากเซาะร่อง สีส้มนวล ภาขนะทรงอ่าง สีเหลืองนวล ภาชนะทรงหม้อปากกว้าง ตกแต่งบริเวณไหล่ด้วยการขูดเป็นร่องขนานรอบตัวภาชนะ ซึ่งเป็นภาชนะในสมัยวัฒนธรรมเขมร นอกจากนี้ยังพบภาชนะจากแหล่งเตาบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15-19 เครื่องถ้วยจีนแบบชิงไป๋ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-19

โบราณสถานโนนแกอาจสร้างขึ้นในช่วงต้นของสมัยนี้ คือราวพุทธศตวรรษที่ 15 ที่ต่อเนื่องกับวัฒนธรรมสมัยที่ 2 หรือสมัยทวารวดี (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ 2541 : 44) หรือพุทธศตวรรษที่ 15-19 (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ 2541 : 39) หรือพุทธศตวรรษที่ 17-18

ชุมชนสมัยนี้คงประกอบกิจกรรมการถลุงโลหะด้วย เพราะพบตะกรันที่เกิดจากการถลุงหรือหลอมโลหะประเภททองแดง (วิเคราะห์โดยสุรพล นาถะพินธุ) (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ 2541 : 39) ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถาน ห่างออกไปประมาณ 20 เมตร นับเป็นหลักฐานที่พบได้น้อยมากในภูมิภาคแถบนี้

ชุมชนแห่งนี้คงมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องจนราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงได้ทิ้งร้างไป

ชั้นวัฒนธรรมที่ 4 มีการเข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานโนนแกอีกครั้ง โดยชาวลาวที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 โดยดัดแปลงให้เป็นวัดพุทธศาสนา ดังปรากฏสิ่งก่อสร้างในรูปแบบของสิม นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ชิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 

ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานโนนแกนั้น มีความสัมพันธ์กับเมืองโบราณบ้านคูเมือง ที่อยู่ป่างออกไปทางทิศตะวันตกราว 1 กิโลเมตร ไม่มากก็น้อย โดยอาจเป็นชุมชนเดียวกันหรืออาจเป็นเพียงชุมชนร่วมสมัยกันก็ได้

 

โบราณสถานโนนแก

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ 2541)

หลังจากการขุดแต่งพบสิ่งก่อสร้างหลายหลังที่มีขนาดและรูปแบบแตกต่างกัน วัสดุที่ใช้มีทั้ง ศิลาแลง อิฐ และหินทราย

แผนผังโบราณสถานโนนแก มีอาคาร 4 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 40x50 เมตร มีบันไดทางขึ้นที่กึ่งกลางทิศตะวันออก (อาจมีช่องทางเข้าหรือช่องประตูทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันตก)

อาคารหมายเลข 1 อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 9x12.5 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง ปูบนระดับพื้นดินทั่วไป 2 ชั้น มีแนวบันไดขึ้นทางทิศตะวันออก ที่มุมและขอบศิลาแลงมีหลุมเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับตั้งเสารองรับเครื่องบน โดยแต่ละหลุมอยู่ห่างกันประมาณ 2 เมตร

สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้อาจเป็นวิหารโถง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา เปรียบเทียบได้กับปราสาทตาเมือนธม ปรางค์กู่ (จ.ชัยภูมิ) ปรางค์กู่บ้านเขว่า (จ.มหาสารคาม) ปราสาทหินพิมาย (จ.นครราชสีมา) ปราสาทโดนตวล (จ.ศรีสะเกษ) เป็นต้น

อาคารหมายเลข 2 อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4.5x10 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลง ผิวนอกฉาบปูน มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งน่าจะใช้เป็นทางเข้าออก ภายในปรากฏแท่นฐานชุกชี (ประดิษฐานพระประธาน?) สันนิษฐานว่าหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา

อาคารหลังนี้ก่อสร้างด้วยศิลาแลงแบบหยาบๆ อาจเป็นการรื้อโบราณสถานหลังเดิมแล้วก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารหลังนี้ เทคนิคการก่อสร้างไม่ได้เป็นแบบวัฒนธรรมเขมร มีร่องรอยการประกอบศิลาแลงหลายก้อนที่ไม่อยู่ในตำแหน่งเดิม

สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้อาจเป็นสิมทึบ ซึ่งหมายถึงสิมที่ทำผนังปิดทั้ง 4 ด้าน ยกเว้นช่องประตูหน้าต่าง พบได้มากในแถบอีสานใต้

อาคารหมายเลข 3 อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เข้าหาด้านหน้าอาคารหมายเลข 2 ขนาด 6x9.8 เมตร ก่อสร้างด้วยศิลาแลงฉาบปูนเช่นเดียวกับอาคารหมายเลข 2 ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันตกทำเป็นมุขสำหรับทางเดินเข้าออก มีร่องรอยของหลุมเสารองรับโครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสิมเช่นเดียวกับอาคารหมายเลข 2

รอบอาคารหมายเลข 2 และ 3 มีเสมาหินทรายปักเป็นคู่ล้อมรอบอยู่ 7 คู่ (ไม่พบในตำแหน่งตรงกลางของด้านทิศตะวันออก)

อาคารหมายเลข 4 เป็นซากโบราณสถานที่พังทลายลงหมดแล้ว เนื่องจากการทำลายในสมัยหลัง ไม่สามารถศึกษารูปแบบอาคารได้ แต่น่าจะร่วมสมัยกับอาคารหมายเลข 1 เนื่องจากอยู่ในระดับชั้นดินดียวกัน

จากรูปแบบสถาปัตยกรรม หลักฐานในเสมาหินที่พบ 7 คู่ ลักษณะการวางตำแหน่งเสมาที่หันเข้าหาอาคารหมายเลข 2 และ 3 และเสมา 1 คู่ ที่วางตำแหน่งซ้อนอยู่บนแนวอาคารหมายเลข 1 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในสมัยที่มีการใช้ประโยชน์จากอาคารหมายเลข 2 และ 3 นั้น น่าจะเลิกใช้ประโยชน์จากอาคารหมายเลข 1 แล้วโดยอาคารหมายเลข 2 และ 3 ก็คือโบสถ์หรือสิมนั่นเอง

หลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆที่ได้จากการขุดแต่ง ได้แก่

-กระเบื้องดินเผา กระเบื้องเชิงชาย บราลีดินเผา

-ภาชนะดินเผาเนื้อดิน ทรงแจกัน อ่าง หม้อปากกว้าง หม้อปากแคบ ไห ชาทอ่าง ชาม ส่วนฝา จุกภาชนะ และพวย มีทั้งแบบเรียบและตกแต่งด้วยลายเส้นตรงแนวนอน ลายขูดขีดคล้ายกลีบบัว ลายขูดขีดเป็นเส้นสั้นในแนวเฉียง ลายกดประทับเป็นรูปข้าวหลามตัด ลายเชือกทาบเส้นเล็กและติดกันเป็นลายข้าวหลามตัด ลายจุดประ ลายขูเป็นร่องขนาน ลายกดเป็นร่องวงกลม และลายเส้นคลื่น

-ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก ทรงหม้อก้นกลม ภายในบรรจุกระดูก

-ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-19 มีทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ

-เครื่องถ้วยจีนแบบชิงไป๋หรือหยิ่งชิง (Ching  Pai or Ying Ching) อยู่ในสมัยราชวงศ์ซุ่ง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-19

-แท่งดินเผาไฟ

-เบี้ยดินเผา

-สังข์ดินเผาเคลือบ เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง เคลือบสีเขียว ขนาด 8 เซนติเมตร

-หินดุ

-แว

-ตะปูปลิงโลหะ

-ใบหอกเหล็ก

-แหวนสำริด

-ชิ้นส่วนทองแดง

-ลูกปัดคาร์เนเลียน

-แท่นหินบด ทำจากหินทราย

-โครงกระดูกมนุษย์ พบบริเวณพื้นที่อาคารหมายเลข 4 เป็นโครงกระดูก สูง 95 เซนติเมตร สภาพไม่สมบูรณ์ ชิ้นส่วนนิ้วมือและนิ้วเท้าด้านขวาขาดหายไป โบราณวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูก ได้แก่ ภาชนะดินเผาทรงถ้วยรูปแปดเหลี่ยม เขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบ สีขาวขุ่น ปากผายออก เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 13 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางก้น 6 เซมนติเมตร สูง 5.5 เซนติเมตร สภาพชำรุด และเหรียญเงิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เซนติเมตร ตรงกลางมีรูขนาด 0.5 เซนติเมตร ด้านหน้าเขียนว่า “5 สตางค์ สยามรัฐ” ด้านหลังเขียน “พ.ศ.2469” สภาพสมบูรณ์

 

โดยสรุปแล้ว โบราณสถานโนนแกมีการก่อสร้างซ้อนทับกัน 2 สมัย ได้แก่

สมัยที่ 1 ได้แก่ อาคารหมายเลข 1 และ 4 สร้างเนื่องในวัฒนธรรมเขมร เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ได้แก่ อาคารหลังทิศเหนือและหลังทางทิศใต้ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18

สมัยที่ 2 ได้แก่ อาคารที่สร้างทับบนซากอาคารหลังทิศใต้จำนวน 2 หลัง คืออาคารหมายเลข 2 และ 3 โดยมีใบเสมาหินทรายปักล้อมรอบ เป็นอาคารหรือสิมที่สร้างเนื่องในศาสนาพุทธ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 24-25

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 4 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533.

ทรรศนะ โดยอาษา. “แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง.” เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ เรื่อง โบราณคดีไทย ครั้งที่ 1 วันที่ 25-28 สิงหาคม พ.ศ.2535 ณ โรงแรมปทุมรัตน์ จังหวัดอุบลราชธานี, 2535.

ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. “การศึกษาพัฒนาการของชุมชนโบราณบ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบาลราชธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.

ปุราณรักษ์, หจก. รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานโนนแก บ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบาลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, 2541.

สิริพัฒน์ บุญใหญ่. “ประเพณีการฝังศพที่แหล่งโบราณคดีโนนแก บ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี. รายงานเบื้องต้น แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, 2541.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี