บ้านเขากระจิว


โพสต์เมื่อ 7 ส.ค. 2021

ที่ตั้ง : ม.6 บ้านเขากระจิว ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง

ตำบล : ท่ายาง

อำเภอ : ท่ายาง

จังหวัด : เพชรบุรี

พิกัด DD : 12.963052 N, 99.911733 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เพชรบุรี, อ่าวไทย

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยละหารบอน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัว อ.เมืองเพชรบุรี ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าลงทิศใต้สู่ อ.ท่ายาง เมื่อเลยแยกท่ายางไปประมาณ650 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ซอยที่มุ่งหน้าไปบ้านเขากระจิวและวัดบรรพตาวาส (วัดเขากระจิวเมื่อเข้าไปประมาณ 1.3 กิโลเมตร จะพบวัดบรรพตาวาส เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 200 เมตร จะพบโรงเรียนวัดเขากระจิว แหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิวตั้งอยู่ระหว่างวัดกับโรงเรียน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิวไม่หลงเหลือร่องรอยหลักฐานมากนัก เนื่องจากถูกไถปรับเป็นที่นา ส่วนโบราณวัตถุบางส่วนจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อยู่ในความครอบครองของชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่วัดบรรพตาวาส (วัดเขากระจิวและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์กัลยาณวุฒิกร วัดเขากระจิว ที่ตั้งอยู่ภายในวัด ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งประจำท้องถิ่น

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ภูเขา

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเรียนวัดเขากระจิว ใกล้กับวัดบรรตาวาส (วัดเขากระจิวลักษณะพื้นที่เดิมเป็นเนินดิน แต่เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว มีการไถปรับพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม ทำให้ไม่เหลือสภาพเนินดิน ปัจจุบันจึงเป็นพื้นที่ราบ สำหรับปลูกกล้วยและเป็นป่ารก ในบริเวณนี้ยังพบอิฐขนาดใหญ่ที่มีส่วนผสมของแกลบข้าว และบริเวณร่องน้ำที่ชาวบ้านขุดขึ้น ยังปรากฏแนวอิฐ นอกจากนี้ยังเคยพบแนวถนนปูด้วยอิฐขนาดใหญ่ระหว่างบริเวณเชิงเขากับโรงเรียนเขากระจิว ที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเนินโบราณสถาน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

10 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยละหารบอน

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่ม ใกล้กับเชิงเขากระจิว ซึ่งเป็นเขาหินปูนลูกโดดขนาดย่อม (เขากระจิวตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหล่งประมาณ 200 เมตร) ล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบ ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของแหล่งโบราณคดีมีห้วยละหารบอนไหลผ่าน และอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกประมาณ 14 กิโลเมตร ลักษณดินเป็นดินชุดเพชรบุรี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

(พุทธศตวรรษที่ 9-12?) / พุทธศตวรรษที่ 12-16 / พ.ศ.1100-1600 / 1400-900 BP, พุทธศตวรรษที่ 19 - ปัจจุบัน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : ก่อน พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ก่อนปี พ.ศ.2533 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี กรมศิลปากร ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว เพื่อขึ้นบัญชีโบราณสถานที่สมควรขึ้นทะเบียน พบซากโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ คณะสำรวจสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี (อ้างถึงใน ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ 2533: 73)

ชื่อผู้ศึกษา : ฉัตรชัย อักษรศิลป์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ราวปี พ.ศ.2533 ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ (2533: 73-75) สำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว แต่ไม่พบร่องรอยโบราณสถานสมัยทวารวดี พบแต่เพียงโบราณสถานที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณกว่า 100 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2540 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี (2541: 62-64) กรมศิลปากร ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว เนื่องในโครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่ออนุรักษ์พัฒนาเมืองคูบัว พบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เศษภาชนะดินเผา อิฐขนาดใหญ่ เครื่องประดับสถาปัตยกรรมปูนปั้น แต่ไม่พบร่องรอยโบราณสถานสมัยทวารวดี

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ก่อนการก่อตั้งวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ บนยอดเขามีเจดีย์อยู่ 1 องค์ และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ ซึ่งเจดีย์องค์เดิมอาจเป็นเจดีย์สมัยทวารวดี เนื่องจากมีร่องรอยแนวถนนโบราณที่ปูด้วยอิฐขนาดใหญ่ เชื่อมต่อจากเนินเขาไปยังเนินโบราณสถานสมัยทวารวดีที่อยู่หลังโรงเรียนวัดเขากระจิว (ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ 2533: 73; สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี2541: 62)

โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิวของฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ (2533) และ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี (2541) เช่น

ก้อนอิฐ มีขนาดใหญ่ โดยมีขนาดประมาณ 20.5x28.5x6.5 เซนติเมตร และ 16x32x8 เซนติมเตร มีเนื้อหยาบ มีส่วนผสมของแกลบข้าวมาก ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของอิฐที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี

อิฐกลมที่มีรูตรงกลาง หนา 8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางรู 8 ซ.ม. สันนิษฐานว่าอาจเป็นส่วนประกอบของเจดีย์ อิฐลักษณะนี้เคยพบที่โบราณสถานในเมืองคูบัว จ.ราชบุรี และที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

เครื่องประดับสถาปัตยกรรมปูนปั้น พบ 2 ชิ้น ปัจจุบันอยู่ที่วัดบรรพตาวาส ชิ้นแรกเป็นใบหน้าบุคคล กว้าง 16 เซนติเมตร สูง 14 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร ลักษณะใบหน้าเหลี่ยม ริมฝีปากกว้างแบะ หูยาว ใต้คางเรียบ อีกชิ้นหนึ่งเป็นหน้ากาล สภาพชำรุด กว้าง 14 เซนติเมตร สูง 8.5 เซนติเมตร หนา 7 เซนติเมตร ลักษณะฝีมือใกล้เคียงกับงานปูนปั้นที่พบที่โบราณสถานทุ่งเศรษฐี จ.เพชรบุรี

ส่วนโบราณวัตถุที่สำรวจพบบนเขากระจิว เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (พบปริมาณมาก ลักษณะเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีทั้งส่วนปาก สัน ลำตัว และก้น มีทั้งผิวเรียบและตกแต่งผิวด้วยเทคนิคขูดขีด เชือกทาบ และการกดประทับเป็นลวดลายต่างๆ) เบี้ยดินเผา หินบด ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ และเปลือกหอยแครง

นอกจากนี้ ยังเคยพบโบราณวัตถุอื่นๆในบริเวณวัด ได้แก่ ลูกปัด ภาชนะดินเผา ตะคันดินเผา และยังพบภาชนะดินเผาเคลือบสีขาวรูปทรงเป็นตลับทรงแตง 3 ใบ บริเวณเขาน้อยติดกับเขากระจิว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากเตาหนานอัน มณฑลฝูเจี้ยน ราชวงศ์ซุ่ง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 (ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ2533: 74)

จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ น่าจะมีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) ประกอบไปด้วยโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐ ทั้งที่เชิงเขาและบนเขากระจิว) และพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิจกรรมต่างๆของชุมชน ทั้งนี้อาจมีการอยู่อาศัยในพื้นที่แหล่งโบราณคดีมาถึงสมัยหลัง ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์

แหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว อาจเป็นชุมชนสมัยทวารวดีที่อยู่ในละแวกเดียวกับชุมชนสมัยทวารวดีที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้าและบ้านใหม่ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และลักษณะของหลักฐานคล้ายคลึงกัน

อย่างไรก็ตาม คณะสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2540 (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี 2541: 64) สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิวอาจมีการใช้พื้นที่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เพราะเคยพบโบราณวัตถุสมัยดังกล่าวในพื้นที่บริเวณนี้ เช่น เศษภาชนะดินเผาบางประเภทที่เป็นรูปแบบของภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายปะปนอยู่กับภาชนะดินเผาแบบทวารวดีนอกจากนี้พื้นที่ใกล้กับเขากระจิวก็พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปะปนอยู่กับโบราณวัตถุแบบทวารวดี เช่น เครื่องมือหินขัด เป็นต้น อีกทั้งยังพบโครงกระดูกที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแฟบ ที่อยู่ห่างออกไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งวัตถุอุทิศที่พบร่วมกับโครงกระดูกมีลกัษณะเหมือนกับที่พบในแหล่งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหลายแห่งในภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นภาชนะดินเผา เครื่องประดับสำริด ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ลูกปัดหินอาเกต และเครื่องมือเหล็ก

ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ทึ่แหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิวมีการติดต่อกับชุมชนห่างไกล เช่น ในประเทศอินเดีย ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นชุนชนในวัฒนธรรมทวารวดีเมื่อได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย มีการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาและสร้างศาสนสถานขึ้นที่เขากระจิวเป็นศาสนสถานสำคัญของชุมชน และชุมชนบริเวณนี้คงอยู่ต่อเนื่องมาในสมัยหลัง เพราะพบร่องรอยโบราณวัตถุรุ่นหลังจากจีน และชุมชนแห่งนี้คงมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่และแหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้า ซึ่งอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกเพียง 2-3 กิโลเมตร (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี 2541: 64)

จากลักษณะของหลักฐานทางโบราณคดี ที่ตั้ง ลักษณะพื้นที่ รวมถึงสภาพแวดล้อม คณะสำรวจได้จัดกลุ่มแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว ให้อยู่กลุ่มเดียวกับแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่และบ้านมาบปลาเค้า คือ “กลุ่มแหล่งโบราณคดีเขากระจิว” (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี 2541; สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี 2543) ซึ่งแหล่งโบราณคดีกลุ่มนี้ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณรอบเขากระจิว ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมเหมาะแก่การเป็นจุดพักการเดินทางหรือชุมทาง หลักฐานทางโบราณคดีที่พบมากได้แก่ เศษภาชนะดินเผาและเศษอิฐ กระจายตัวอยู่เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งน่าจะเป็นชุมชนขนาดค่อนข้างใหญ่ นอกจากนั้นยังมีซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมแบบทวารวดี 

พิพิธภัณฑ์กัลยาณวุฒิกร วัดเขากระจิว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะการสำรวจและศึกษาร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในจังหวัดเพชรบุรีเอกสารประกอบการสัมมนาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดีรายงานการศึกษาและสำรวจทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี จังหวัดเพชรบุรี. (เอกสารอัดสำเนา). อ้างถึงใน สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรีคูบัว ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียงกรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2541.

ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 30 March 2011. Available from http://www.gis.finearts.go.th

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรีคูบัว ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียงกรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2541.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี. ทุ่งเศรษฐี โบราณสถานทวารวดี ชายฝั่งทะเลเพชรบุรีกรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2543.