โพสต์เมื่อ 31 มี.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดราษฎรปฏิสังขราราม
ที่ตั้ง : ม.2 บ้านทุ่งผักกูด ถ.บ้านหัวถนน-บ้านทุ่งผักกูด (นฐ. 3177)
ตำบล : ห้วยด้วน
อำเภอ : ดอนตูม
จังหวัด : นครปฐม
พิกัด DD : 13.909842 N, 100.102131 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองหนองบอน, คลองกระถินแดง, คลองม่วงตารส, ห้วยด้วน
จากตัวอำเภอดอนตูม บริเวณที่ว่าการอำเภอดอนตูม มุ่งหน้าทางตะวันตกเฉียงใต้ หรือมุ่งหน้าเข้าตัวจังหวัดนครปฐม ใช้ถนนหมายเลข 3036/ถนนหมายเลข 375 เข้าสู่ถนนหมายเลข 3297 ระยะทางประมาณ 4.1 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย ใช้ถนนวัดทุ่งพิชัย-วัดหัวถนน เพื่อไปตำบลห้วยด้วน (ไปตามป้ายตำบลห้วยด้วน วัดทุ่งผักกูด) ประมาณ 4.4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาใช้ ถ.บ้านหัวถนน-บ้านทุ่งผักกูด (นฐ. 3177 ) (ตามป้ายวัดทุ่งผักกูด) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ถึงวัดทุ่งผักกูด
พระเกจิที่มีชื่อเสียงของวัดทุ่งผักกูด คือ หลวงปู่เทศ เทสโก เจ้าอาวาสวัดทุ่งผักกูดองค์แรก (เมื่อ พ.ศ.2448-2458 โดยประมาณ) ผู้ปฏิสังขรณ์วัดทุ่งผักกูด
จนได้รับพระราชทานชื่อวัดใหม่จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า
วัดราษฎรปฏิสังขราราม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2448,
พระครูพรหมวิสุทธ์ (หลวงพ่อวงษ์)
เจ้าอาวาสวัดทุ่งผักกูด องค์ที่ 2 เจ้าคณะอำเภอกำแพงแสนองค์แรก (พ.ศ.2459-2498
โดยประมาณ) และพระครูไพโรจน์ ศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดทุ่งผักกูด
องค์ที่ 3 (พ.ศ.299-2545)
สามารถเข้าเยี่ยมโบราณสถานได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าเข้าชม และหากต้องเข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ลาวคั่ง วัดทุ่งผักกูด ต้องติดต่อล่วงหน้าที่ ผู้ใหญ่บ้าน พนม นาคโสมกุล 081-758-5051, 090-953-5390 หรือ ดร.จิตกวี กะจ่างเมฆ 088-753-1752
วัดทุ่งผักกูด, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไป วัดทุ่งผักกูดและชุมชน ตั้งอยู่บนเนินดิน สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 1-2 เมตร สภาพแวดล้อมโดยรอบวัดเป็นชุมชน ล้อมรอบชุมชนด้วยพื้นที่ทางการเกษตร
โบราณสถานภายในวัด อุโบสถและศาลาการเปรียญ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลรักษาจนอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง แต่เจดีย์ทั้ง 5 องค์ที่ตั้งอยู่หน้าอุโบสถมีสภาพชำรุดทรุดโทรม
แม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) , คลองหนองบอน, คลองกระถินแดง, คลองม่วงตารส, ห้วยด้วน
ตะกอนทะเลสะสมตัวบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเล : ดินเหนียวเนื้อนิ่ม ดินเหนียวปนทรายแป้ง สีเทา สีเทาอ่อน มักจะพบ แร่ยิปซัมรูปร่างคล้ายเข็ม กระจัดกระจายอยู่ร่วมกับจุดสีเหลืองฟางข้าวของ แร่จาโรไซต์ (กรมทรัพยากรธรณี 2558)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2560, พ.ศ.2561
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : วัดทุ่งผักกูด
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2560-2561 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ร่วมกับวัดทุ่งผักกูด ได้บูรณะเสริมความมั่นคงอาคารโบราณสถาน ได้แก่ อุโบสถ ฐานเสมา และแสดงตำแหน่งกำแพงแก้วเดิมที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้พบลหักฐานชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเนื้อกระเบื้องพิมพ์ลายคราม และเขียนสีสมัยสาธารณรัฐ กระจายตัวอยู่เบาบาง สัมพันธ์กับหลักฐานสิ่งก่อสร้างภายในวัด เช่น เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ซุ่มเสมาย่อมุม และปูนปั้นประดับเหนือซุ้มประตูอุโบสถ ลายดอกไม้อย่างจีน ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นต่อ ๆ กันมา กล่าวว่าพื้นที่แห่งนี้สมัยโบราณเป็นทุ่งกว้างใหญ่ มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยซึ่งเป็นชื่อตำบลคือ ห้วยด้วน ไหลผ่าน ระบบนิเวศมีความชุ่มชื้นสูง พืชชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในตระกูลเฟิร์น ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ผักกูด” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างวัดในบริเวณนี้ขึ้น เรียกกันว่า "วัดทุ่งผักกูด" แต่ในปัจจุบันไม่มีผักกูดตามธรรมชาติเหลืออยู่แล้ว ส่วนคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวลาวครั่ง
วัดทุ่งผักกูด เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย มีเนื้อที่ตั้งวัด 18 ไร่ ที่ธรณีสงฆ์ 12 ไร่ ตามประวัติของทางวัดระบุว่าวัดทุ่งผักกูดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2380 (อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ 2563: 156) ในขณะที่ทะเบียนวัดของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าวัดทุ่งผักกูดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2407 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565)
ตามประวัติของทางวัดที่ระบุว่าวัดทุ่งผักกูดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2380 หรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สอดคล้องกับประวัติการตั้งถิ่นฐานของชุมชนลาวครั่ง ในอำเภอดอนตูม ที่ระบุว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวลาวเข้ามาอาศัยอยู่หัวเมืองชั้นในต่าง ๆ ใกล้กรุงเทพฯ รวมถึงในอำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม (อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ 2563: 156) กระทั่งหลวงปู่เทศ เทสโก เจ้าอาวาสวัดทุ่งผักกูดเมื่อ พ.ศ.2448-2458 (โดยประมาณ) ได้ปฏิสังขรณ์วัดทุ่งผักกูด จนได้รับพระราชทานชื่อวัดใหม่จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "วัดราษฎรปฏิสังขราราม" เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2448 ตามประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2448 ก่อนที่จะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2553 (อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ 2563: 156; สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565) จากชื่อวัดราษฎรปฏิสังขรารามนั้น สอดคล้องกับประวัติวัดที่เล่าสืบทอดกันในพื้นที่ว่า พื้นที่ตั้งวัดเดิมเป็นเนินดิน ไม่เหลือร่องรอยสิ่งก่อสร้าง แต่ชาวบ้านมักขุดพบพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีหลายองค์ที่เนินดินแห่งนี้
โบราณสถานสำคัญภายในวัดทุ่งปักกูด ได้แก่ อุโบสถหลังเก่า เจดีย์ 5 องค์ (เป็นเจดีย์ย่อมุมและทรงปราสาท) และศาลาการเปรียญ
อุโบสถ (เก่า) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 5 ห้อง มีพาไลอยู่ด้านหน้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานเป็นฐานบัวลูกฟัก มีช่องประตู 2 ช่อง ที่ด้านหน้า ซุ้มประตูทางเข้าเป็นปูนปั้นประดับเป็นรูปช้าง นกยูง และพันธุ์พฤกษา ช่องหน้าต่างที่ด้านยาวด้านละ 4 บาน (ที่ห้องด้านในสุดไม่มีหน้าต่าง) หลังคาทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นทรงจั่วแบบมีไขรา หลังคาซ้อนกัน 2 ตับทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปบนฐานชุกชี
มีซุ้มเสมาและเสมา 8 ซุ้ม ล้อมรอบอุโบสถ เดิมเคยมีกำแพงแก้วล้อมรอบ
พ.ศ.2560-2561 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ร่วมกับวัดทุ่งผักกูด ได้บูรณะเสริมความมั่นคงอาคารโบราณสถาน ได้แก่ อุโบสถ ฐานเสมา และฐานรากกำแพงแก้วเดิมที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี โบราณวัตถุสำคัญที่ขุดค้นพบ คือ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเนื้อกระเบื้องพิมพ์ลายคราม และเขียนสีสมัยสาธารณรัฐ กระจายตัวอยู่เบาบาง สัมพันธ์กับหลักฐานสิ่งก่อสร้างภายในวัด เช่น เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ซุ้มเสมาย่อมุม และปูนปั้นประดับเหนือซุ้มประตูอุโบสถ ลายดอกไม้อย่างจีน ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ 2563: 156)
เจดีย์ 5 องค์ ตั้งอยู่เรียงหน้ากระดานอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของอุโบสถเก่า (หรือเรียงตามแนวทิศเหนือ-ใต้) เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน สภาพเจดีย์ทุกองค์ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์
เจดีย์องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นเจดีย์ย่อมุม ฐานล่างสุดเป็นฐานบัว ถัดขึ้นมาเป็นฐานสิงห์ซ้อนกัน 3 ชั้น บัวคลุ่มและบัวเชิงบาตร รองรับส่วนองค์ระฆังย่อมุม มีปูนปั้นประดับที่องค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ บัวถลา บัวคลุ่มเถา ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง
ถัดออกมาจากเจดีย์องค์กลาง ทั้งด้านซ้ายและขวา เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ย่อมุมที่ตัวองค์ระฆัง ตั้งอยู่บนฐานสูง เป็นชุดฐานสิงห์ บัวคลุ่มและบัวเชิงบาตร รองรับส่วนองค์ระฆังย่อมุม มีปูนปั้นประดับที่องค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ บัวถลา บัวคลุ่มเถา ปลียอด และลูกแก้ว โดยส่วนปลายสุดหักหายไป
ส่วนเจดีย์องค์นอกสุดทั้งสองด้าน เป็นเจดีย์ทรงปราสาท โดยส่วนซุ้มประดับของตัวปราสาทประดับด้วยนาคปูนปั้น(คล้ายนกเจ่า) มีภาพเขียนด้วยสีเป็นลวดลายที่หน้าจั่ว มีทั้งที่เป็นลายม้า ลายเป็ด และลายตาลปัตรพัดยศ เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังย่อมุม บังลังก์ บัวคลุ่มเถาปลียอดและเม็ดน้ำค้าง
ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้มีใต้ถุน สูง 2 ชั้น มีบันไดปูนเพื่อขึ้นสู่อาคารด้านทิศเหนือ มีการประดับลวดลายเทพนมที่ที่พักบันได และระบุ "พ.ศ.๒๕๘๒" ชั้นล่างไม่มีฝาผนัง ส่วนชั้นบนมีฝาผนังไม้บานเฟี้ยม ที่ด้านบนของผนังกรุช่องแสงสลักลวกลาย ส่วนหน้าจั่วติดตั้งประติมากรรม (ไม้) รูปครุฑเทิดพาน ด้านข้างครุฑทั้ง 2 ด้านเป็นสิงห์ ส่วนไขราและปั้นลมประดับลวดลายสลัก และมีเสาสาระไนที่มุมจั่วทั้ง 3 มุม
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด (มหาชน), 2558.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. "วัดทุ่งผักกูด" ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 26 จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2563.