โพสต์เมื่อ 3 เม.ย. 2022
ชื่ออื่น : ถ้ำเขาสาย, ถ้ำพระผีทำ
ที่ตั้ง : ม.3
ตำบล : บางดี
อำเภอ : ห้วยยอด
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.785685 N, 99.514646 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองหยี
จากสี่แยกห้วยยอด หรือสี่แยกอันดามัน ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตก หรือมุ่งหน้าจังหวัดกระบี่ ประมาณ 11.5 กิโลเมตร จะพบแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4250 ทางขวามือ (ตามป้ายบ้านนาดี หรือโบราณสถานภูเขาสาย โดยจะต้องกลับรถเพื่อเลี้ยวเข้าถนนเส้นนี้) ไปตามทางหลวงหมายเลข 4250 ประมาณ 2.5 กิโลเมตร จะพบถนนเข้าสู่ภูเขาสายทางขวามือ (ก่อนถึงสวนสาธารณะแพพรุจูด) ไปถนนเส้นนี้ประมาณ 1.3 กิโลเมตร จะพบสำนักสงฆ์ถ้ำเขาสาย และปากถ้ำเขาสาย ทางซ้ายมือ
ปัจจุบันบริเวณถ้ำภูเขาสายเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำเขาสาย ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบางดี ได้ให้ความสำคัญต่อโบราณสถานแห่งนี้ และมีโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปขึ้นบนภูเขาสาย สร้างบันไดขึ้นสู่ถ้ำ ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้า
สำนักสงฆ์ถ้ำเขาสาย, องค์การบริหารส่วนตำบลบางดี, กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3685 วันที่ 8 มีนาคม 2478
ภูเขาสายเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ภูเขาห่างจากแม่น้ำตรังมาทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร สภาพทั่วไปบนเขาเป็นป่าโปร่ง พื้นที่โดยรอบเขาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ถ้ำและเพิงผาที่พบหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ทางพื้นที่ทางทิศตะวันตกของภูเขา ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก ปัจจุบันบริเวณถ้ำภูเขาสายเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำเขาสาย
คลองหยี, แม่น้ำตรัง
ภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน กลุ่มหินราชบุรี อายุ 245-286 ล้านปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2550)
ที่มาของชื่อภูเขาสาย มีตำนานเล่าว่า ในสมัยแรกเริ่มสร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ชาวบ้านแถบหัวเมืองปักษ์ใต้กลุ่มหนึ่ง ได้นำแก้วแหวนเงินทองและของมีค่าต่าง ๆ จะไปร่วมสร้างพระบรมธาตุ แต่พอมาถึงสถานที่แห่งนี้ก็ทราบข่าวว่าพระบรมธาตุสร้างเสร็จแล้ว ถึงไปก็สายเกินไป ชาวบ้านจึงนำของมีค่าเหล่านั้นไปไว้ในถ้ำแล้วให้ชื่อว่า “ถ้ำเขาสาย” (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ 2561: 123) ในบรรดาของมีค่าเหล่านั้นรวมถึงพระพิมพ์ต่าง ๆ ด้วย
จากการศึกษาทางโบราณคดี พบหลักฐานหลายยุคสมัย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องมือหิน ชิ้นส่วนหม้อสามขา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา กระจายอยู่ภายในถ้ำต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ดินดิบบริเวณถ้ำทางทิศตะวันออก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 เป็นโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ซึ่งอาจเป็นหลักฐานว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานเดินทางมาจากประเทศอินเดียได้ใช้แม่น้ำตรังเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทร และมาแวะพักในชุมชนบริเวณนี้ โดยอาจมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำตรังที่อยู่ใกล้เคียงกันตาม เช่น ถ้ำเขาปินะ และถ้ำเขานุ้ย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จมาตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121 ได้เสด็จประพาสเขาสาย ในวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) ทรงบันทึกไว้ว่า
“...ถึงเขาสาย ปากถ้ำสูงกว่าพื้นดินสัก ๘ วา เป็นผาชัน... รวมเทวรูปที่ได้ ๖ ชนิด คือ ๑.รูปพระโพธิสัตว์สี่กรนั่งขัดสมาธิ ๒.รูปอย่างเดียวกันแต่ขนาดย่อม ๓.รูปพระโพธิสัตว์สองกรนั่งห้อยพระบาท ๔.รูปพระโพธิสัตว์สองกรยืน ๕.รูปพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ ๖.รูปย่างเดียวกันแต่องค์เล็ก ยังมีอีกที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นที่เม็ดยอดอะไรก็มี มีลายชิ้นอะไรแตกๆ มีตราหนังสือ และมีขอบไม่ซ้ำกับรูปแบบที่ได้ชัดเจนนั้นก็มี...” (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ 2561: 123)
ใน พ.ศ.2453 (ร.ศ.128) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหลายพื้นที่และได้เสด็จถ้ำเขาสายด้วย ใน 23 มิ.ย.2478 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานภูเขาสาย เป็นโบราณสถานของชาติ
มีเรื่องเล่าการค้นพบพระพิมพ์ เมื่อ 60 - 70 ปีก่อนว่า มีชาวบ้านมาเลี้ยงวัวในพื้นที่ใกล้ถ้ำและได้ยินเสียงตำครกดังออกจากถ้ำ พอเข้าไปดูก็ไม่มีใคร พบแต่พระพิมพ์วางอยู่บนหินจำนวนมาก จึงได้นำกลับบ้าน แต่พอรุ่งเช้าปรากฏว่าพระกลับมาที่ถ้ำเหมือนเดิม เมื่อมีคนอื่นเอาไปก็เป็นเหมือนกันอีกจึงเรียก "พระผีทำ" และมีความเชื่อว่าเป็นโบราณวัตถุมีอาถรรพ์รักษา ใครเอาไปจะมีอันเป็นไป
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์, 2550.
กรมศิลปากร. "ภูเขาสาย(ถ้ำเขาสาย)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 17 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.