โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : ดอนตาเพชร
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านทุ่งสมบูรณ์ ต.ดอนตาเพชร อ.พนมทวน
ตำบล : ดอนตาเพชร
อำเภอ : พนมทวน
จังหวัด : กาญจนบุรี
พิกัด DD : 14.18923 N, 99.72615 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง, ท่าจีน
เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำจรเข้สามพัน
จากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนอู่ทอง) มุ่งหน้าอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปตามถนนประมาณ 31 กิโลเมตร (ผ่านตัวอำเภอพนมทวนก่อน) พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายสู่ตำบลดอนตาเพชร ไปตามถนนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบโรงเรียนวัดสาลวนารามอยู่ทางซ้ายมือ แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรและพิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชรอยู่ภายในโรงเรียน
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดสาลวนาราม ปัจจุบันมีการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชร” อยู่ภายในโรงเรียน เพื่อนำเสนอข้อมูลและเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านดอนตาเพชรที่ได้จากการดำเนินงานด้านโบราณคดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ผ่านภาพและคำบรรยายต่างๆ รวมทั้งโบราณวัตถุ หลุมขุดค้นจำลอง และหุ่นจำลองแสดงภาพวิถีชีวิตในอดีต (http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside.php?id=361)
ผู้ต้องการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องติดต่อล่วงหน้าไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลดอนตาเพชร ที่เบอร์ 034-680-448, 034-680-449 โดยไม่เสียค่าเข้าชม
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนตาเพชร, โรงเรียนวัดสาลวนาราม, กรมศิลปากร
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในพื้นที่โรงเรียนวัดสาลวนาราม เป็นที่ตั้งของสนามกีฬา อาคารอเนกประสงค์ ถนนซีเมนต์ภายในโรงเรียน พื้นที่ว่างเปล่าเป็นพื้นดินปูหญ้า และพิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชร
พื้นที่แหล่งโบราณคดีเป็นเนินดินที่ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุมชนในตัวตำบลดอนตาเพชร
แม่น้ำจรเข้สามพัน
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรตั้งอยู่บนเนินดินบริเวณขอบของพื้นที่ทับถมจากตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary)
ชื่อผู้ศึกษา : นริศ ผดุงไทย, ประสาท ล่านาลาว, ประสาร ทองช่วง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2518 ทางโรงเรียนสาลวนารามได้ขุดดินลึกประมาณ 50-60 เซนติเมตร หลายหลุมเพื่อปักเสาสำหรับสร้างรั้วโรงเรียนด้านทิศตะวันตกและได้พบโบราณวัตถุจำนวนมากกว่า 100 ชิ้น โดยเฉพาะประเภทเหล็กและสำริด ทางโรงเรียนจึงแจ้งไปยังปลัดอำเภอโทมาตรวจสอบแล้วนำโบราณวัตถุส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่ว่าการอำเภอพนมทวน อีกส่วนหนึ่งยังคงเก็บรักษาอยุ๋ที่โรงเรียน ในส่วนของที่ประชาชนเก็บไปก็นำไปไว้ที่วัดสาลวนาราม วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2518 นายฉลอง เปี่ยมญาติ ได้แจ้งไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง เรื่องการพบโบราณวัตถุดังกล่าว นายนริศ ผดุงไทย หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง (ในขณะนั้น) นายประสาท ล่านาลาว และนายประสาร ทองช่วง ได้เดินทางมาตรวจสอบ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2518 มีคำสั่งจากกรมศิลปากรให้ระงับการขุดและขอรับโบราณวัตถุทั้งหมดที่พบไปเก็บรักษาไว้ที่กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณวัตถุที่สำคัญที่นำส่งมาในคราวนั้น ได้แก่ เครื่องมือเหล็กคล้ายมีด (ชาวบ้านเรียกว่าเหลียน) สำริดรูปหงส์ เศษภาชนะสำริดที่มีลวดลายเป็นรูปผู้หญิง และเครื่องมือเหล็ก ลักษณะคล้ายเครื่องมือเหล็กจากบ้านเชียง (ชิน อยู่ดี 2519)ชื่อผู้ศึกษา : นิคม สุทธิรักษ์, สุชิน ทองขาว, นายพเยาว์ เข็มนาค, ชุมสาย พุกกะลานนท์, ชิน อยู่ดี, สุด แสงวิเชียร, พายัพ บุญมาก, พเยาว์ เข็มนาค, สละ ไวยนาค
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518, พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ นายนิคม สุทธิรักษ์ หัวหน้างานวิชาการกองโบราณคดี พร้อมด้วย นายสุชิน ทองขาว นายพเยาว์ เข็มนาค และนายชุมสาย พุกกะลานนท์ มาดำเนินการขุดค้นบริเวณหน้าโรงเรียนสาลวนาราม วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 ศ.ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี และ ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยากายภาพ นายพายัพ บุญมาก หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ นายพเยาว์ เข็มนาค และนายสละ ไวยนาค มาขุดค้นต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2518 การขุดค้นสามารถแบ่งชั้นดินได้เป็น 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นบน เป็นดินที่ถมเสริมขึ้นเมื่อฝังกระดูกคนโบราณ พร้อมด้วยวัตถุอุทิศเรียบร้อยแล้ว ชั้น 2 เป็นชั้นดินที่มีอยู่ก่อนขุดหลุมฝังกระดูกคนโบราณ ไม่พบเศษภาชนะดินเผา กระดูสัตย์ หรือถ่าน ชั้น 3 เป็นชั้นดินที่ฝังกระดูกคนโบราณพร้อมด้วยวัตถุอุทิศ เป็นดินสีขาว มีลักษณะพิเศษคือเมื่อถูกน้ำจะอ่อน พอถูกแดดสักครู่จะแข็งแกร่งเหมือนปูนซีเมนต์ ชั้น 4 ชั้นดินที่ไม่มีหลักฐานโบราณคดี ศ.ชิน อยู่ดี (2519) ระบุว่าแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรมีอายุประมาณ 2,000-1,700 ปีมาแล้ว มีประเพณีการปลงศพเป็นแบบการฝังศพครั้งที่ 2 หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบในครั้งนั้น ได้แก่ 1.โบราณวัตถุที่ทำด้วยสำริด 1.1 ภาชนะสำริดคล้ายขัน 1.2 กำไลข้อมือและข้อเท้าสำริด 1.3 ทัพพีสำริด 1.4 สำริดรูปหงส์ 1 ชิ้น 1.5 สำริดรูปนกยูง 2 ชิ้น 1.6 แหวนสำริด 1.7 ลูกกระพรวน มีลายขดวนคล้ายลายนิ้วมือ มีห่วง มี 2 ขนาด เล็กและใหญ่ 2.โบราณวัถตุที่ทำด้วยหิน 2.1 ขวานหินขัด 2.2 จักรหินเจาะรู 2.3 หินลับมีด 2.4 ลูกปัดหินคาร์เนเลียน 2.5 ลูกปัดหิน 2.6 ลูกปัดหินกัดสี 2.7 กำไลทำจากหินสีเขียวและสีฟ้า 3.โบราณวัตถุที่ทำด้วยแก้ว 3.1 ลูกปัดแก้ว 3.2 ต่างหู 4.โบราณวัตถุที่ทำด้วยดินเผา 4.1 ภาชนะดินเผา ทั้งที่มีลายและไม่มีลาย บางใบมีการเจาะรู 4.2 แวดินเผา 5 แบบ 4.3 ตุ้มหูดินเผา 5.โบราณวัตถุที่เป็นกระดูก 5.1 โครงกระดูกมนุษย์ ที่มีกระดูกไม่ครบทุกชิ้น 5.2 ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ได้แก่ ส่วนแขน ขา กะโหลกศีรษะ และฟัน 5.3 ลูกปัดกลมแบน 6.โบราณวัตถุที่เป็นเปลือกหอย ได้แก่ เปลือกหอยที่มีปลายมน เจาะรูตรงกลาง วางอยู่บนทรวงอกของหลุมศพที่ 6 อาจเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องราง 7.โบราณวัตถุที่เป็นเหล็ก 7.1 ขวานถากมีบ้อง 7.2 ใบหอก 7.3 เครื่องมือคล้ายมีดขอ (เหลียน) 7.4 เครื่องมือรูปคล้ายใบหอก มีรอยเจาะเพื่อใส่ด้ามตรงกลาง 7.5 ฉมวก 7.6 สิ่ว 7.7 เครื่องมือเหล็กรูปคล้ายตะปู 1 ชิ้น 7.8 เครื่องมือเหล็กบางชิ้นคล้ายกับที่พบที่บ้านเชียง 7.9 เครื่องมือไม่ทราบหน้าที่ใช้งาน 7.10 ห่วงเหล็กคล้ายกำไล 7.11 เบ็ด 7.12 เคียว 8.โบราณวัตถุที่เป็นพืช 8.1 เมล็ดพืช 2 เมล็ด ติดอยู่ในเศษภาชนะดินเผา 8.2 เศษผ้า ติดอยู่กับภาชนะสำริดชื่อผู้ศึกษา : สุรพล นาถะพินธุ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาโลหะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุรพล นาถะพินธุ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “เครื่องมือเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านดอนตาเพชร” โดยได้ศึกษาและจัดรูปแบบเครื่องมือเหล็กที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ระหว่างปี พ.ศ.2518-2519 รูปแบบเครื่องมือเหล็กที่ได้จากศึกษาในครั้งนี้คือ 1.เครื่องมือช่างไม้ 1.1 ขวาน - ขวานมีบ้อง (11 แบบ) - ขวานไม่มีบ้อง (5 แบบ) 1.2 สิ่ว หรือ เหล็กสกัด - สิ่วมีบ้อง (4 แบบ) - สิ่วไม่มีบ้อง (5 แบบ) 2.อาวุธหรือเครื่องมือล่าสัตว์ 2.1 ใบหอก - ใบหอกมีบ้อง (4 แบบ) - ใบหอกไม่มีบ้อง 2.2 หัวลูกศร (2 แบบ) 2.3 หัวฉมวก 2.4 เครื่องมือเหล็กแบบอื่นๆ ได้กา ห่วงเหล็กรูปคล้ายกำไล ตะปูเหล็ก เหล็กเส้นยาว มีด เคียว เบ็ด เครื่องมือรูปคล้ายใบหอก เครื่องมือรูปคล้ายมีดขอหรือขอชักไม้มีบ้อง โครงสร้างภายในศึกษาโดยไพลิน วีโรทัย (เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520) (สุรพล นาถะพินธุ 2519) พบว่ามีผลึกหยาบ มีการเรียวตัวของผลึกแบบ Ferrite ซึ่งแสดงถึงว่าเหล็กมีความแข็งไม่มากนัก เนื้อเหล็กยังคงมีเหล็กออกไซด์และเหล็กซัลไฟด์ ชี้ให้เห็นว่าการถลุงยังทำได้ไม่ดีนัก แต่มีประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มความแข็งให้กับเหล็ก นอกจากนั้นผู้ศึกษายังนำผลการศึกษาที่ได้ไปเปรียบเทียบกับรูปแบบเครื่องมือเหล็กที่พบจากแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยในภูมิภาคต่างๆของไทย เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าและถ้ำองบะ จ.กาญจนบุรี และพบว่าเครื่องมือเหล็กจากบ้านดอนตาเพชรมีลักษณะคล้ายคลึงกับของบ้านเชียง ผู้ศึกษาจึงให้ข้อสันนิษฐานว่าวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านดอนตาเพชรเจริญขึ้นโดยการแพร่กระจายวัฒนธรรมมาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่เครื่องมือเหล็กจากบ้านเก่าและถ้ำองบะมีลักษณะต่างไปจากบ้านดอนตาเพชร คือเป็นขวานมีบ้อง อาจแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มาจากแหล่งอื่น มิใช่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกับหลักฐานที่พบจากบ้านดอนตาเพชร ชี้ให้เห็นถึงมีอิทธิพลทางวัฒนธรรม 2 วัฒนธรรมในดินแดนแถบนี้ชื่อผู้ศึกษา : วรรณนี มุกปักษาเจริญ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
วรรณนี มุกปักษาเจริญ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “ประเพณีการฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านดอนตาเพชร” โดยศึกษาลักษณะและความเชื่อเกี่ยวกับการฝังศพที่ขุดค้นพบจากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2518-2519 จากการศึกษาพิธีกรรมปลงศพยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านดอนตาเพชรพบว่าส่วนใหญ่เป็นการฝังศพครั้งที่ 2 (secondary burial) สิ่งของอุทิศให้กับศพ มีทั้งเครื่องมือเหล็กรูปแบบต่างๆ (บางชิ้นถูกทำให้งออย่างตั้งใจ) เครื่องประดับทำจากสำริด หิน แก้ว กระดูก และดินเผา ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริด แวดินเผา ทัพพีสำริด ขวานหินขัด จักรหินเจาะรู รูปนกยูงสำริด นอกจากนี้ยังพบเศษผ้าติดอยู่กับชิ้นภาชนะสำริดและกำไลสำริดด้วย การฝังศพอาจจะฝังในสถานที่ที่จัดสำหรับคนตายโดยเฉพาะ โดยให้อยู่ห่างจากพื้นที่อยู่อาศัย การฝังศพส่วนมากหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การฝังศพเป็นแนว 3 แนวใหญ่ๆ จำแนกโครงกระดูกได้ไม่น้อยกว่า 85-90 โครง นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตว่า วัตถุอุทิศที่เป็นขวานถาก ใบหอก สิ่ว หัวลูกศร พบเฉพาะในศพเป็นเพศชาย ส่วนแวดินเผา กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า และลูกปัด พบเฉพาะในศพเพศหญิงชื่อผู้ศึกษา : เอนก สีหามาตย์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2520
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาโลหะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เอนก สีหามาตย์ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “ภาชนะสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านดอนตาเพชร” โดยศึกษาภาชนะสำริด 163 ชิ้น ที่พบจากการขุดค้นระหว่างปี พ.ศ.2518-2519 โดยได้จัดแบ่งภาชนะสำริดออกตามรูปทรงและลวดลาย และนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับภาชนะสำริดที่พบจากแหล่งโบราณคดีอื่น เช่น ภาชนะสำริดที่พบในจังหวัดอุตรดิตถ์ ภาชนะสำริดของราชวงศ์โจวของจีน และภาชนะสำริดของอินเดีย ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบภายในจากตัวอย่างสำริด โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ผลการศึกษาคือ ทองแดง 51.15% ดีบุก 30.34% (มีดีบุกผสมมาก) ตะกั่ว 0.10% เหล็ก 0.46% สังกะสี 0.01% เงิน 0.26% พลวง 0.16% จากผลการศึกษาทำให้ตีความได้ว่าภาชนะสำริดที่บ้านดอนตาเพชรทำขึ้นโดยวิธีขับขี้ผึ้ง เพราะภาชนะมีความบางมาก อาจทำขึ้นเองในชุมชน เพราะไกลออกไปจากแหล่งโบราณดีประมาณ 20-30 กิโลเมตร เป็นแหล่งแร่ดีบุกในจังหวัดราชบุรี และสัดส่วนของการผสมดีบุกในการทำสำริดสูง อาจจะมีสาเหตุจากการหาแร่ทองแดงยากกว่า จึงเพิ่มดีบุกเพื่อประหยัดทองแดง อย่างไรก็ตามการขุดค้นไม่พบเบ้าหลอมโลหพ (crucible) และแม่พิมพ์ ส่วนภาชนะที่มีลวดลายผู้หญิง อาจได้รับอิทธิพลจากพม่าหรือมอญ และอาจเป็นสินค้า ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันหรือผลิตขึ้นเอง เพราะพบเพียงชิ้นเดียวชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
มีการขุดค้นทางโบราณคดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2523ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
มีการขุดค้นทางโบราณคดีในเดือนมกราคม พ.ศ.2524ชื่อผู้ศึกษา : พิสิฐ เจริญวงศ์, Ian C. Glover
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยลอนดอน
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2527-2528 มีการขุดค้นทางศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีโดยโครงการร่วมมือวิจัยระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยลอนดอน (A Joint project between the Fine Arts Department of Thailand and the Institute of archaeology of University of London) โดยมีนายพิสิฐ เจริญวงศ์ เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายกรมศิลปากร และ Dr.Ian C. Glover แห่งสถาบันโบราณคดี มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายมหาวิทยาลัยลอนดอน การขุดค้นพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กระทรวงศึกษาธิการ, คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมศิลปากร จัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรเพิ่มเติม โดยจัดการเสวนาระหว่างนักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ในครั้งนั้นได้มีแนวคิดร่วมกันจัดสร้างศูนย์ข้อมูลและจัดแสดงเกี่ยวกับแหล่งโบราณบ้านดอนตาเพชรขึ้นในพื้นที่โรงเรียนสาลวนารามปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544
ผลการศึกษา :
จัดสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชร ภายในพื้นที่โรงเรียนสาลวนารามชื่อผู้ศึกษา : สุรเดช ก้อนทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาโลหะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุรเดช ก้อนทอง เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษาเปรียบเทียบเครื่องมือเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี กับแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี” โดยเครื่องมือเหล็กจากบ้านดอนตาเพชรอ้างอิงมาจากการศึกษาของสุรพล นาถะพินธุ (2519) สุรเดช ก้อนทอง ได้จัดแบ่งรูปแบบเครื่องมือเหล็กที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรไว้ดังนี้ 1.เครื่องมือช่าง 1.1 เครื่องมือช่างที่มีบ้องตั้งฉากกับคมใช้งาน 14 แบบ 1.2 เครื่องมือช่างที่มีช่องเข้าด้าม 2 แบบ 1.3 เครื่องมือช่างไม่มีบ้อง หรือเครื่องมือช่างมีกั่น 10 แบบ 2.อาวุธ และเครื่องมือล่าสัตว์ 2.1 ใบหอกมีบ้อง 4 แบบ 2.2 ใบหอกไม่มีบ้อง หรือใบหอกมีกั่น 1 แบบ 2.3 หัวลูกศร 3 แบบ 2.4 หัวฉมวก 1 แบบ 3.เครื่องมือแบบอื่นๆ 3.1 ห่วงเหล็กรูปคล้ายกำไล 3.2 มีด 3.3 ตะปูเหล็ก 3.4 เคียวเกี่ยวข้าว 3.5 เบ็ดตกปลา 3.6 เครื่องมือรูปคล้ายใบหอกแต่มีรูเจาะตรงกลาง 3.7 เหล็กเส้นยาว การศึกษาเปรียบเทียบเครื่องมือเหล็กจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองที่ร่วมสมัยแต่ต่างพื้นที่กัน คือแถบที่สูงฝั่งตะวันตกของภาคกลาง (บ้านดอนตาเพชร) กับที่สูงฝั่งตะวันออกของภาคกลาง (บ้านโป่งมะนาว) พบว่ามีความรูปแบบที่คล้ายคลึงกันมากและมีพัฒนาการของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือเหล็กที่คล้ายกัน แสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาพการดำรงชีวิต ความเชื่อ และเทคโนโลยี เครื่องมือเหล็กของทั้งสองแหล่งแสดงให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสองพื้นที่ที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น เครื่องมือช่างที่ใช้ในงานช่าง ตัดไม้ และขุดดิน เครื่องมือล่าสัตว์ ได้แก่ ใบหอก และหัวลูกศร ซึ่งน่าจะประกอบไปด้วยการเพาะปลูกและการล่าสัตว์-หาของป่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีเครื่องมือบางประเภทที่มีรูปแบบแตกต่างกัน ทั้งนี้ความแตกต่างของความหลากหลายของประเภท รูปแบบ และขนาดของเครื่องมือน่าจะมีผลมาจากการปรับปรุงให้เหมาะสมในการใช้งานตามการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ ซึ่งพบว่าแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรมีรูปแบบเครื่องมือเครื่องใช้ในการล่าสัตว์มากกว่าบ้านโป่งมะนาว คือ ฉมวกและเบ็ด อาจแสดงให้เห็นถึงประเภทของสัตว์ที่มนุษย์สมัยนั้นนิยมล่าที่แตกต่างกันไปในแต่ละแหล่ง เครื่องมือเหล็กจากทั้งสองแหล่งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในชุมชน กล่าวคือ เครื่องมือเหล็กจากทั้งสองแหล่งได้มาจากหลุมศพ หรือเป็นวัตถุอุทิศให้กับผู้ตาย แสดงถึงความเชื่อหลังความตายของคนในชุมชน มีการจงใจหักหรืองอเครื่องมือเหล็กที่อุทิศให้กับผู้ตายก่อนฝัง ซึ่งอาจมาจากความเชื่อว่าของที่ฝังให้ผู้ตายต้องทำให้สิ่งของเหล่านั้นตาย (เสียหาย) ไปด้วย การศึกษาโครงสร้างกายภาพของเหล็กด้วยวิธีการวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบ Scanning Electron Microscope (SEM) และกล้องจุลทรรศน์สำหรับแร่วิทยา ผลการศึกษาพบว่า -โครงสร้างทางภายภาพของเหล็กเป็นผลึกหยาบ การเรียงตัวผลึกเป็นแบบแฟร์ไรท์ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำ ทำให้เนื้อเหล็กมีความแข็งน้อย -เนื้อเหล็กแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนการถลุงยังทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากยังคงมีแร่ที่ไม่ต้องการ (slag) คือ เหล็กออกไซด์และเหล็กซัลไฟด์ หลงเหลืออยู่ในเนื้อเหล็ก ซึ่งแร่นี้จะทำให้เหล็กสึกกร่อนง่าย แต่มีประโยชน์คือเพิ่มความแข็งให้กับเหล็ก เมื่อนำผลการศึกษาโครงสร้างกายภาพของเหล็กที่บ้านดอนตาเพชรไปเปรียบเทียบกับบ้านโป่งมะนาวพบว่า -โครงสร้างทางกายภาพของเหล็กจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเป็นแบบแฟร์ไลท์ผสมเพิร์ลไลท์ ต่างกับของดอนตาเพชรที่เป็นแบบแฟร์ไรท์อย่างเดียว -เหล็กที่นำมาศึกษาจากบ้านโป่งมะนาวมีคุณภาพดีกว่าเหล็กจากบ้านดอนตาเพชร เนื่องจากมีปริมาณเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนในโครงสร้างเหล็กมากกว่า -เหล็กจากทั้ง 2 แหล่ง น่าจะมาจากกระบวนการตรง (Bloomery Process) เหมือนกัน โดยสังเกตจากขี้แร่ (slag) ที่ตกค้างอยู่ภายในเนื้อเหล็ก แสดงถึงการถลุงที่ยังไม่ดีพอ และยังพบว่ามีปริมาณคาร์บอนในเนื้อเหล็กไม่มากนัก เป็นเหล็กอ่อน (Wrought iron) -การผลิตเครื่องมือเหล็กใข้วิธีการขึ้นรูปโดยการตีเหมือนกัน ในตัวอย่างเครื่องมือเหล็กจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวพบว่ามีการชุบแข็ง (Case-Hardening) โดยสังเกตจากโครงสร้างผลึกที่เปลี่ยนไปในรูปแบบต่าง ในขณะที่ตัอวย่างเครื่องมือเหล็กจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่ามีการนำเครื่องมือผ่านกระบวนการนี้หรือไม่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรเป็นแหล่งโบราณคดีในสมัยเหล็กที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางซีกตะวันตกของไทย ซึ่งเป็นส่วนขอบของที่ราบภาคกลางด้านทิศตะวันตก อยู่ ม.7 ภายในโรงเรียนวัดสาลวนาราม ต.ดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้สามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 3-8 หรือประมาณ 2,300-1,700 ปีมาแล้ว เป็นแหล่งที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวร มีการติดต่อกับชุมชนอื่นจากภายนอก ทั้งภายในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เช่นในพื้นที่กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และในพื้นที่ห่างไกล เช่น อินเดีย เวียดนาม รวมทั้งมีการรับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการหล่อเครื่องประดับและเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กและสำริด รวมทั้งการทำเครื่องประดับจากหินและแก้ว
โบราณวัตถุสำคัญที่ได้จากการขุดค้นและสำรวจ คือ
1.โบราณวัตถุสำริด (ชิน อยู่ดี 2519, เอนก สีหามาตย์ 2520) เช่น รูปไก่ลอยตัว ลักษณะเป็นรูปไก่ขันอยู่บนคอน ปากคาบสัตว์ที่มีขาคล้ายแมงมุมหรือปู, รูปกรงหรือสุ่มไก่สำริด มีลักษณะเป็นทรงกรวย ตอนบนมีรู ซึ่งคงใช้สำหรับเสียบกับรูปไก่, รูปหงส์, รูปนกยูง, ลูกกระพรวน, กำไล, แหวน, ภาชนะรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกระบอก ทรงขัน ทรงถังน้ำ ฝามีจุกแหลม ทัพพีสำริด และภาชนะสำริดชิ้นหนึ่งเป็นรูปผู้หญิงเกล้ามวยผม หูยาว สวมเสื้อ พบแต่ส่วนบนของร่างกายผู้หญิง
ภาชนะสำริดที่พบที่บ้านดอนตาเพชรแสดงถึงเทคโนโลยีการหล่อโลหะขั้นสูง คือการหล่อแบบขับขี้ผึ้ง (Lost wax) เนื่องจากภาชนะที่พบมีเนื้อบางและมีการแกะลายที่สวยงาม จากการวิเคราะห์เนื้อโลหะสำริดทำให้ทราบว่ามีส่วนผสมของแร่ดีบุกสูง ทำให้สำริดที่บ้านดอนตาเพชรมีความวาวและเปราะแตกง่าย
2.โบราณวัตถุเหล็ก (ชิน อยู่ดี 2519 ; สุรพล นาถะพินธุ 2519 ; สุรเดช ก้อนทอง 2545) ได้แก่ เครื่องมือเหล็กแบบต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือช่างแบบมีบ้อง เครื่องมือช่างแบบมีช่องเข้าด้าม เครื่องมือช่างแบบมีกั่น ใบหอกมีบ้อง ใบหอกมีกั่น หัวลูกศร หัวฉมวก ห่วงเหล็กรูปคล้ายกำไล มีด ตะปู เคียว (มีดขอ) เบ็ด เครื่องมือเหล็กรูปคล้ายใบหอกแต่มีรูเจาะตรงกลาง เหล็กเส้นยาว
จากการวิเคราะห์โครงสร้างในเนื้อโลหะเหล็กจากบ้านดอนตาเพชรพบว่าโครงสร้างทางภายภาพของเหล็กเป็นผลึกหยาบ การเรียงตัวผลึกเป็นแบบแฟร์ไรท์ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำ ทำให้เนื้อเหล็กมีความแข็งน้อย เป็นเหล็กอ่อน (Wrought iron)
เนื้อเหล็กแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนการถลุงยังทำได้ไม่ดีนัก น่าจะมาจากกระบวนการตรง (Bloomery Process) ยังคงมีแร่ที่ไม่ต้องการ (slag) คือ เหล็กออกไซด์และเหล็กซัลไฟด์ หลงเหลืออยู่ในเนื้อเหล็ก ซึ่งจะทำให้เหล็กสึกกร่อนง่าย แต่มีประโยชน์คือเพิ่มความแข็งให้กับเหล็ก
หลักฐานเครื่องมือเหล็กชี้ให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร เช่น เครื่องมือช่างที่ใช้ในงานช่าง ตัดไม้ และขุดดิน เครื่องมือที่ใช้ในการล่าสัตว์ ได้แก่ ใบหอก และหัวลูกศร ซึ่งวิถีชีวิตน่าจะประกอบไปด้วยการเพาะปลูกและการล่าสัตว์-หาของป่า นอกจากนี้เครื่องมือเหล็กยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในชุมชน กล่าวคือ เครื่องมือเหล็กจากทั้งสองแหล่งได้มาจากหลุมศพ หรือเป็นวัตถุอุทิศให้กับผู้ตาย แสดงถึงความเชื่อหลังความตายของคนในชุมชน มีการจงใจหักหรืองอเครื่องมือเหล็กที่อุทิศให้กับผู้ตายก่อนฝัง ซึ่งอาจมาจากความเชื่อว่าของที่ฝังให้ผู้ตายต้องทำให้สิ่งของเหล่านั้นตาย (เสียหาย) ไปด้วย
3.โบราณวัตถุที่ทำด้วยหิน เช่น เครื่องมือหินหรือเครื่องมือขูดขนาดเล็ก (shoulder adze) ทำจากหินควอทไซท์, เครื่องมือหินขัด, ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต รูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกลม ทรงกระบอก และทรงถังเบียร์ ลูกปัดหินชิ้นพิเศษคือลูกปัดหินคาร์เนเลียนรูปสิงโตในท่าทางกำลังกระโจน ด้านบนเจาะรู ความสูง 3.1 เซนติเมตร ยาว 5.7 เซนติเมตร, ลูกปัดหินกัดสี
4.โบราณวัตถุประเภทแก้ว เช่น กำไลแก้วสีม่วงและเขียว ลูกปัดแก้วสีต่างๆ เช่น สีเขียวอ่อน ฟ้า น้ำเงิน น้ำตาลแดง และใส รูปทรงที่เด่นชัดคือ รูปเหลี่ยมยาว รูปหกเหลี่ยมยาว รูปทรงสิบสองเหลี่ยม รูปพีรามิดยอดตัดประกบคู่ รูปวงแหวน รูปวงกลมขั้วแบน ทรงคล้ายถังเบียร์ และรูปกลม
5.ภาชนะดินเผา เช่น ภาชนะดินเผามีก้นกลมปลายบาน บางใบทำลวดลายขูดขีด ลายประทับ และลายเชือกทาบ บางใบทาน้ำดินสีแดง, แก้วดินเผา รูปทรงกลม และมีรูตรงกลาง เป็นต้น
6.กระดูกมนุษย์ ส่วนใหญ่พบเพียงชิ้นส่วน เช่น กระดูกขา กระดูกนิ้ว กระดูกแขน กะโหลกศีรษะ และฟัน เป็นต้น กระดูกบางชิ้นถูกบรรจุอยู่ในภาชนะสำริด และบางชิ้นพบร่วมกับสิ่งของที่แตกชำรุด ส่วนฟันพบทั้งฟันของวัยเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งปรากฏร่องรอยการสึกของฟันกราม (ชิน อยู่ดี 2519)
การดำรงชีวิต เกษตรกรรมและล่าสัตว์-หาของป่า มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับชุมชนใกล้เคียงและชุมชนโพ้นทะเล มีการใช้เครื่องมือเหล็กเป็นเครื่องมือหลักที่มีความหลากหลายในเรื่องรูปแบบและหน้าที่ใช้งาน มีการใช้ภาชนะที่ทำด้วยดินเผาและสำริด มีตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า แหวน ต่างหู ห่วง ที่ทำจากวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะสำริด เหล็ก หิน แก้ว กระดูก มีการใช้ผ้า และอาจมีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นเอง โดยเฉพาะภาชนะดินเผา (รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้เหล็กและสำริด?)
เทคโนโลยี ภาชนะสำริดที่พบที่บ้านดอนตาเพชรแสดงถึงเทคโนโลยีการหล่อโลหะขั้นสูง คือการหล่อแบบขับขี้ผึ้ง (Lost wax) เนื่องจากภาชนะที่พบมีเนื้อบางและมีการแกะลายที่สวยงาม เนื้อโลหะสำริดมีส่วนผสมของแร่ดีบุกสูง ทำให้สำริดที่บ้านดอนตาเพชรมีความวาวและเปราะแตกง่าย
ส่วนเทคโนโลยีเกี่ยวกับเหล็กพบว่าเป็นเหล็กอ่อน (Wrought iron) ขั้นตอนการถลุงยังทำได้ไม่ดีนัก น่าจะมาจากกระบวนการตรง (Bloomery Process) ยังคงมีแร่ที่ไม่ต้องการ (slag) คือ เหล็กออกไซด์และเหล็กซัลไฟด์ หลงเหลืออยู่ในเนื้อเหล็ก ทำให้เหล็กสึกกร่อนง่าย แต่มีประโยชน์คือเพิ่มความแข็งให้กับเหล็ก
ความเชื่อ (ชิน อยู่ดี 2519 ; วรรณนี มุกปักษาเจริญ 2519) ความเชื่อสำคัญของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านดอนตาเพชรที่สำคัญ คือพิธีกรรมปลงศพ พบว่าส่วนใหญ่เป็นการฝังศพครั้งที่ 2 (secondary burial) สิ่งของอุทิศให้กับศพ มีทั้งเครื่องมือเหล็กรูปแบบต่างๆ (บางชิ้นถูกทำให้งออย่างตั้งใจ) เครื่องประดับทำจากสำริด หิน แก้ว กระดูก และดินเผา ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริด แวดินเผา ทัพพีสำริด ขวานหินขัด จักรหินเจาะรู รูปนกยูงสำริด นอกจากนี้ยังพบเศษผ้าติดอยู่กับชิ้นภาชนะสำริดและกำไลสำริดด้วย นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตว่า วัตถุอุทิศที่เป็นขวานถาก ใบหอก สิ่ว หัวลูกศร พบเฉพาะในศพเป็นเพศชาย ส่วนแวดินเผา กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า และลูกปัด พบเฉพาะในศพเพศหญิง
การติดต่อกับชุมชนภายนอก โบราณวัตถุที่ได้จากการศึกษาทางโบราณคดีแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก เช่น อินเดียสมัยราชวงศ์โมริยะ (ดร.วรางคณา ราชพิทักษ์ ได้เปรียบเทียบกับภาชนะสำริดในสมัยราชวงศ์โมริยะ ที่มีส่วนผสมของดีบุกแบบเดียวกัน โดยเฉพาะที่ชุมชนที่ตักษิลา ในราชวงศ์โมริยะ) เวียดนามในวัฒนธรรมซาหวิ่น (ลูกปัดแบบ ลิง-ลิง-โอ) ซึ่งการติดต่ออาจจะมาทางการเดินเรือจากอินเดียมายังพม่า และเข้ามาทางกาญจนบุรี ราชบุรี หรือเข้ามาทางทะเลโดยผ่านเมืองท่าที่นครปฐม สินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยนค้าขายส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ที่ทำจากสำริด เครื่องประดับประเภทลูกปัดหิน แก้ว เป็นต้น ในสถานะที่เป็นชุมชนศูนย์กลางการค้าขายจากอินเดียกับชุมชนอื่นที่อยู่ลึกเข้าไปภายใน
การค้นพบโบราณวัตถุจากต่างประเทศในแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรแสดงให้เห็นว่า บ้านดอนตาเพชรน่าจะเป็นสถานีการค้าของชาวอินเดียในราชวงศ์โมริยะ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว พระเจ้าจันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ ได้เน้นการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ โดยโปรดฯให้สร้างเมืองท่าที่ปากแม่น้ำคงคาคือ เมืองตามรลิปติ เพื่อติดต่อค้าขายกับประเทศทางตะวันออก และได้สร้างเส้นทางค้าภายในอาณาจักรหลายเส้นทาง หลักฐานที่แสดงถึงความติดต่อสัมพันธ์กับอินเดีย คือ
-ด้ามทัพพีสำริดรูปนกยูง ซึ่งนกยูงเป็นสัตว์ของอินเดีย เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และราขวงศ์โมริยะ (โมริยะ แปลว่า นกยูง) ด้ามทัพพีรูปนกยูงยังพบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคใต้อีกด้วย
-ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ในอินเดีย และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศอินเดียในช่วงสมัยเหล็กตอนปลาย หรือในราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ (พุทธศตวรรษที่ 3-5) และสืบต่อมาในหลังสมัยเหล็ก หรือสมัยอินโด-โรมัน (พุทธศตวรรษที่ 5-9)
-ลูกปัดหินคาร์เนเลียนรูปสิงโต เป็นที่นิยมของชาวตะวันตก โดยเฉพาะพวกกรีก ซิเถียน ปาเถียน ที่เข้ามาปกครองตักษิลา (พุทธศตวรรษที่ 5-8) โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าที่เปรียบเสมือนสิงห์แห่งศากยวงศ์ เครื่องราวรูปสิงโตนี้นอกจากจะพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรแล้ว ยังพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านอัมพวาส อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคใต้ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์อีกด้วย
ชิน อยู่ดี. บ้านดอนตาเพชร : รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชร หมู่ที่ 6 ต.พนมทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2519.
วรรณนี มุกปักษาเจริญ. “ประเพณีการฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านดอนตาเพชร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.
วสันต์ เทพสุริยานนท์. แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร : ผลการขุดค้นทางโบราณคดี. สุพรรณบุรี : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี, 2544.
ศรีศักร วัลลิโภดม. “สุวรรณภูมิ ดอนตาเพชร-อู่ทอง และ ชิน อยู่ดี” ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน 2545) : 82-86.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุวรรณภูมิ : ต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.
สุรพล นาถะพินธุ. “เครื่องมือเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านดอนตาเพชร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.
สุรเดช ก้อนทอง. “การศึกษาเปรียบเทียบเครื่องมือเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี กับแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.
อารีพร อำนวยกิจเจริญ. “เสวนาระดมความคิดพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี” สารกรมศิลปากร 13, 11 (พฤศจิกายน 2543) : 2.
เอนก สีหามาตย์. “ภาชนะสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านดอนตาเพชร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2520.