โพสต์เมื่อ 5 ส.ค. 2021
ชื่ออื่น : เขายะลา
ที่ตั้ง : ทางหลวงหมายเลข 409 และ 4065 ม.2 บ้านกูเบ ต.ยะลา อ.เมืองยะลา
ตำบล : ยะลา
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ยะลา
พิกัด DD : 6.526389 N, 101.183318 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี
จากตัว จ.ยะลา ใช้ทางหลวงหมายเลข 409 มุ่งหน้าตำบลยะลา (หรือมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก) ประมาณ 10 กิโลเมตร พบสามแยก ให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 4065 อีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบเขายะลาอยู่ทางขวามือ
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่ พิเศษ 127ง ประกาศวันที่ 21 ธันวาคม 2544
เขายะลา เป็นภูเขาหินปูน ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดยะลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 80-270 เมตร ยาวประมาณ 2.7 กิโลเมตร กว้างที่สุดทางตอนใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร จากการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ หจก.คูน้ำคันดิน พบถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ตั้งแต่ส่วนตอนล่างของเขาไปจนส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในลักษณะหุบเขา ปัจจุบันพื้นที่เขายะลาทางด้านทิศเหนือและตะวันออกบางส่วนถูกระเบิดทำลายจากการทำเหมืองหินปูน
จากการสำรวจทางโบราณคดีพบแหล่งภาพเขียนสีบนผนังหินของเขายะลา 4 พื้นที่ คือ ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาตอแล หรือตอลัง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา ภาพเขียนสีดำบริเวณโพรงถ้ำด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา และภาพเขียนสีบริเวณด้านทิศใต้ของเขายะลา และแหล่งที่อยู่อาศัยชั่วคราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ 2 พื้นที่ คือ บริเวณหุบเขาและโพรงถ้ำด้านตะวันตกของเขายะลา และบริเวณหน้าเพิงผาภาพเขียนสีด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา
แม่น้ำปัตตานี
เขายะลา เป็นภูเขาหินปูน ล้อมรอบด้วยพื้นที่ทับถมจากตะกอนน้ำพา ตะกอนเชิงเขาและตะกอนที่ผุฟังอยู่กับที่ ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเทือกเขาหินแกรนิตที่ต่อเนื่องไปยัง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เขายะลาทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดยะลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 80-270 เมตร
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา สำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เขายะลาเป็นครั้งแรก เนื่องจากจะมีการทำเหมืองหินปูนที่เขายะลา และ ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์ (2541) เขียนบทความ “แหล่งโบราณคดีภูเขายะลา” เพื่อนำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการสำรวจเขายะลาชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา สำรวจแหล่งโบราณคดีเขายะลาอีกครั้งเพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนโบราณสถานชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543, พ.ศ.2544
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2543-2544 สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา สำรวจเขายะลาเพิ่มเติมและแก้ไขแผนผังขึ้นทะเบียนโบราณสถานให้ครอบคลุมพื้นที่ระเบิดหินชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลา ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 127ง หน้า 6 ประกาศเขตพื้นที่โบราณสถาน 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวาชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, คูน้ำดันดิน (ห้างหุ้นส่วนจำกัด)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา ร่วมกับ หจก.คูน้ำคันดิน สำรวจเขายะลาเพื่อกันเขตป้องกันแหล่งศิลปกรรมและโบราณสถานจากเหมืองหินปูนชื่อผู้ศึกษา : อัตถสิทธิ์ สุขขำ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
อัตถสิทธิ์ สุขขำ ศึกษาศิลปะถ้ำหรือศิลปกรรมบนผนังหินที่พบในภาคใต้ของไทย เพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อ “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือเพื่อประมวลข้อมูลเบื้องต้นและประมวลแนวคิดในการกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหิน รวมทั้งเรียบเรียงข้อมูลและกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินในสมัยโบราณในภาคใต้ของไทย ซึ่งรวมถึงศิลปะถ้ำที่พบที่เขายะลาด้วยชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2562, พ.ศ.2563
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 45ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563จากการสำรวจศึกษาโดยเฉพาะของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ หจก.คูน้ำคันดิน พบถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ตั้งแต่ส่วนตอนล่างของเขาไปจนส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในลักษณะหุบเขา จากการสำรวจทางโบราณคดีพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพำนักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และภาพเขียนสี
แหล่งภาพเขียนสีบนผนังหินของเขายะลาพบใน 4 พื้นที่ด้วยกัน คือ (1) ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาตอแล หรือตอลัง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา (2) ภาพเขียนสีดำบริเวณโพรงถ้ำด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา (3) ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา และ (4) ภาพเขียนสีบริเวณด้านทิศใต้ของเขายะลา ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราวยุคก่อนประวัติศาสตร์พบ 2 พื้นที่ คือ (1) บริเวณหุบเขาและโพรงถ้ำด้านตะวันตกของเขายะลา และ (2) บริเวณหน้าเพิงผาภาพเขียนสีด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา
1. แหล่งภาพเขียนสีบริเวณเพิงผาตอแล (ตอลัง) ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา
“ตอแล” หรือ “ตอลัง” แปลว่า เพิงผาที่ใช้ในการบวงสรวง เพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวัตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 30 เมตร พื้นเพิงผาอยู่สูงจากระดับพื้นที่ภายนอกประมาณ 50 เมตร บริเวณเพิงผามีทางเดินต่อกันเป็นแนวยาว สภาพพื้นดินมีการทับถมของกระดูกสัตว์ กระดูกมนุษย์ และเปลือกหอย ปะปนกับก้อนหินขนาดเล็กถึงใหญ่ ผิวดินมีร่องรอยการขุดทำลายเพื่อนำดินไปใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม (กรมศิลปากร 2555 : 611)
ลักษณะของภาพเขียนสีเป็นภาพเขียนสีแดง เป็นภาพมือทาบและภาพสัญลักษณ์ พบบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันตกของเขายะลา กลุ่มภาพหันไปทางทิศตะวันตก กระจายตัวกว้างประมาณ 2 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ภาพล่างสุดสูงจากพื้นดิน 40 เซนติเมตร เขียนด้วยเทคนิคการลงสี (Pictograph) ด้วยสีแดง สันนิษฐานว่าเขียนด้วยดินสีแดงหรือแร่เฮมาไทต์ (Hematite) ทั้งสิ้น 13 ภาพ แบ่งตามการวางตัวของภาพได้ 10 กลุ่ม ประกอบด้วยภาพมือทาบด้วยมือซ้าย ไม่มีการตกแต่งภายในจำนวน 1 ภาพ กลุ่มภาพเส้นตรงจำนวน 7 ภาพ กลุ่มภาพเส้นตรงสลับจุดปะจำนวน 2 ภาพ ภาพคล้ายบันไดจำนวน 1 ภาพ และ 2 ภาพ ไม่สามารถระบุได้
2. แหล่งภาพเขียนสีบริเวณเพิงผาและโพรงหินด้านทิศใต้ของเขายะลา
สภาพทั่วไปเป็นโพรงหินที่มีความยาวประมาณ 105 เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศใต้ พื้นที่ราบภายนอกสูงกว่าพื้นที่ภายในโพรงถ้ำประมาณ 1 เมตร มักมีน้ำท่วมขังภายในถ้ำ โดยเฉพาะในฤดูฝน พื้นดินในถ้ำส่วนใหญ่เป็นทรายสภาพชุ่มชื้น ภายในถ้ำมีแสงสว่างน้อยเนื่องจากมีผนังหินกั้นระหว่างภายนอกและภายในถ้ำ พบกลุ่มภาพเขียนสีที่เพิงผาที่หันไปทางทิศเหนือ ขนาดของกลุ่มภาพยาว 5 เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 1-2 เมตร
ลักษณะภาพเขียนสีเป็นการเขียนลงบนผนังหินด้วยสีดำแบบทึบ แสดงภาพกลุ่มคนและสัตว์ (ช้าง) อยู่ปะปนกัน เชื่อว่ารูปส่วนใหญ่น่าจะเป็นภาพเขียนในสมัยปัจจุบันที่เขียนทับลงบนภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ (กรมศิลปากร 2555 : 613)
ภาพเขียนสีดำเป็นภาพกลุ่มคน คนติดอาวุธ โขลงช้าง และช้างติดสัปคับ เป็นการเขียนด้วยการลงสีดำ (Black Pictograph) อาจเขียนจากวัตถุดิบ เช่น ดินดำ (Black soil) ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่พบได้ทั่วไปบนภูเขา หรือผงฝุ่นถ่าน หรือเขม่าไฟ บนผนังหินที่ตั้งแบ่งระหว่างภายในถ้ำและพื้นที่ราบด้านนอกจึงทำให้แสงสว่างมีน้อยมาก
ภาพเขียนสีแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553 ; สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ม.ป.ป. ; คูน้ำคันดิน 2549) ได้แก่
1.ช้างผูกสัปคับ มีทั้งสิ้น 3 ภาพ โดยเชือกแรกมีลักษณะเป็นช้างงายาวเดินนำหน้าขบวน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีควาญช้างบนคอ ผูกสัปคับมีหลังคาคลุมบนหลังช้าง ภายในมีคนนั่ง เชือกที่ 2 มีลักษณะเป็นช้างงายาว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เดินในกลุ่มนายพรานคุ้มกัน ผูกสัปคับหลังคาคลุมบนหลังช้าง ภายในมีคนนั่ง เชือกที่ 3 อยู่เหนือเชือกที่ 2 มีลักษณะเป็นช้างงายาว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เดินในกลุ่มนายพรานคุ้มกัน ผูกสัปคับหลังคาคลุมบนหลังช้าง ภายในมีคนนั่ง
2.กลุ่มคนติดอาวุธหรือทหาร นับได้จำนวน 26 คน บางคนไม่ติดอาวุธ อาวุธที่เห็นได้จากภาพแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสะพายหอกหรือง้าวสำหรับทะลวงฟัน ในระยะห่างเฉียงอยู่ด้านหลัง เดินคุ้มกันขบวนหลังซึ่งมีช้างสัปคับเพียงเชือกเดียว และมีเพียงคนเดียวที่ถือมีดดาบสั้นในมือซ้ายและมีขนาดใหญ่กว่าภาพอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด
3.โขลงช้างจำนวน 12 เชือก ประกอบด้วยช้างมีงา 6 เชือก ช้างไม่มีเชือก 3 เชือก และช้างมีควาญช้าง 2 เชือก ช้างแต่ะละเชือกมีขนาดแตกต่างกัน บางกลุ่มหันหน้าเข้าหากันดูคล้ายกาต่อสู้หรือชนช้าง
ทั้งนี้ ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่ารูปบุคคลและช้าง มีทั้งภาพที่เขียนขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์และภาพที่เขียนเลียนแบบภาพยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยคนปัจจุบัน (กรมศิลปากร 2555 : 613)
3.ภาพเขียนสีบริเวณเพิงหินช่องทางเดินตอนใต้ของเขายะลา
พบเป็นภาพเดี่ยวบริเวณเพิงผาด้านทิศใต้ของเขายะลา ภาพหันไปทางทิศใต้ เขียนแบบลงสี (Pictograph) จากดินสีแดงหรือแร่เฮมาไทต์ (Hematite) เป็นแบบกิ่งไม้ (Stich man) ศีรษะเป็นภาพครึ่งวงกลมมีเส้นตรงยื่นออกมาจากปาก สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพคนเป่าไม้ซาง หรือเป่าลูกดอก
หลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ได้แก่
ชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ สำรวจปี พ.ศ.2551 พบบริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงจุดที่ 1 เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา
กระดูกสัตว์ เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจำนวนมากที่สุด
ชิ้นส่วนกระดูกไม่สามารถระบุได้ พบจากการสำรวจพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงจุดที่ 1 เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา
เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware sherd) พบจากการสำรวจพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงจุดที่ 1 เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ม.ป.ป. ; ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงษ์ 2543) ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าเศษภาชนะเหล่านี้มีอายุอยู่ในสมัยหินใหม่ อายุประมาณ 3,000-2,000 ปีมาแล้ว (กรมศิลปากร 2555 : 611)
เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ (Glazed Stoneware) สำรวจพบในปี พ.ศ.2549 ที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา เป็นส่วนก้นภาชนะมีฐาน เคลือบใสทั้งด้านนอกและใน ไม่มีลวดลาย ด้านในมีร่องรอยไม่มีเคลือบใสเป็นวงกลม สันนิษฐานว่าเป็นรอยของการวางภาชนะซ้อนในขั้นตอนการเผา จึงทำให้เคลือบหลุดติดไปกับส่วนฐานภาชนะอีกใบที่วางซ้อนกัน กำหนดอายุได้ในยุคประวัติศาสตร์ แต่ไม่สามารถระบุอายุสมับที่แน่ขัดหรือแหล่งเตาได้ (คูน้ำคันดิน 2549)
เครื่องมือหินกะเทาะ (Stone tool) สำรวจพบในปี พ.ศ.2549 ในพื้นที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา ใช้งานเป็นเครื่องมือขูดสับ (Chopper tool) (คูน้ำคันดิน 2549)
โกลนขวานหิน (Pre-Polished Axe) สำรวจพบในปี พ.ศ.2549 พื้นที่โพรงถ้ำในปุบเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา (คูน้ำคันดิน 2549)
ขวานหินไม่มีบ่า ชาวบ้านพบบริเวณบึงน้ำธรรมชาติเชิงเขายะลาด้านทิศตะวันตก (คูน้ำคันดิน 2549)
ดินสีแดง พบอยู่ในถ้ำกลางหุบเขาบริเวณทิศตะวันตกของเขายะลา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำค้างคาว” ห่างจากภาพเขียนสีแดงภาพสัญลักษณ์ที่เพิงผาตอแล (ตอลัง) ไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร (คูน้ำคันดิน 2549) จากการวิเคราะห์โดย นายบัณฑิตย์ สมประสงค์ นักวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์โบราณคดี ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่าดินมีสีแดงคล้ำ (วัดค่าสีดินใน Munsell soil colors ได้ 2.5 YR 3/6 dark red) ค่า pH 8.5 ด่างปานกลาง สามารถละลายได้ในน้ำเปล่าบริสุทธิ์ แต่ไม่ละลายในกรด Hydro-colic การวิเคราะห์ด้วยวิธี Hydrometer ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ขนาดอนุภาคของดิน (Soil particle size analysis) ทำให้ทราบในเบื้องต้นว่าดินสีแดงเป็น Silty Clay Loan ซึ่งมีปริมาณดินเหนียวสูงกว่าทรายแป้ง เป็นสัดส่วน 2:1 มีอนุภาคของทรายน้อย (sand 6.74%, Silt 61.28, clay 31.97) การทดสอบหาอินทรียวัตถุในดิน (Soil Organic Matter Determination) ไม่พบว่ามีอินทรียวัตถุในดิน (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)
การแปลความศิลปกรรม หลักฐานทางโบราณคดี และการกำหนดอายุเบื้องต้น (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)
การสำรวจในหลายครั้งที่ผ่านมา มีการพบแหล่งโบราณคดี หลักฐานทางโบราณคดี และโบราณสถาน ทั้งบนภูเขายะลาและพื้นที่โดยรอบภูเขายะลา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ม.ป.ป. ; มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 2539 ; สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2543 ; คูน้ำคันดิน 2549)
ศิลปกรรมบนผนังหินของภาพเขียนสีแดงเป็นภาพมือทาบและภาพสัญลักษณ์ พบบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันตกของเขายะลา ภาพเขียนสีแดงที่เพิงผาตอแลหรือตอลัง สะท้อนให้เห็นถึงการเขียนแบบคตินิยม (Idealism) หรือภาพสัญลักษณ์ (Symbolism) หรือภาพอรูปลักษณ์ (Non-figures) ซึ่งไม่ทราบถึงความหมายที่ชัดเจน แต่จากการพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware sherd) บนลานหน้าเพิงผา ซึ่งเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับภาพเขียนสีเขายะลา รวมถึงแนวคิดจากการศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีเขายะลากับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่เป็นภาพเขียนสีแดงเช่นเดียวกัน โดยมีการศึกษาเชื่อมโยงความสัมพันธ์และน่าจะมีอายุร่วมกับแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (พิสิฐ เจริญวงศ์ 2532 ; พเยาว์ เข็มนาค 2534) จึงสันนิษฐานว่ามีกลุ่มคนขนาดเล็กเข้ามาอาศัยพักพิงชั่วคราวและสร้างสรรค์ภาพเขียนสีที่เขายะลาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 3,000-2,000 ปีมาแล้ว โดยภาพเขียนสีอาจเป็นสัญลักษ์แทนกลุ่มคนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณนี้ และอาจจะรู้จักการใช้ระบบตัวเลขหรือการนับกับระบบปฏิทินหรือการนับวันที่ เห็นได้จากภาพลายขีดเส้นขนานหรือลายบันได เพื่อวัตถุประสงค์บางประการที่ไม่อาจทราบได้แน่ชัด และกลุ่มคนเหล่านี้อาจมีพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการใช้มือซ้าย และพิธกรรมอุดมสมบูรณ์ เพื่อการสร้างขวัญกำลังใจสำหรับการผลิตอาหาร
ศิลปกรรมบนผนังหินของภาพเขียนสีเป็นภาพคนเป่าไม้ซาง พบเป็นภาพเดี่ยวบริเวณเพิงผาด้านทิศใต้ของเขายะลา เป็นภาพที่สะท้อนถึงการเขียนแบบธรรมชาติ (Naturalistic) หรือภาพสัจนิยม (Realistic) หรือแบบรูปลักษณ์ (Figure) จากการศึกษาเปรียบเทียบภาพลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีรูปคนเป่าไม้ซางที่แหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป จ.ยะลา ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร (อมรา ศรีสุชาติ 2532) และแหล่งภาพเขียนสีถ้ำทากุต (Tagut Cave) กัวราเบอริง รัฐกลันตัง ประเทศมาเลเซีย
ศิลปกรรมบนผนังหินของภาพเขียนสีดำเป็นภาพกลุ่มคน คนติดอาวุธ โขลงช้าง และช้างติดสัปคับ ที่โพรงถ้ำทางทิศใต้ของเขายะลา จากผลการศึกษาที่ผ่านมาโดยสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร (สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2551) กำหนดอายุภาพเขียนสีกลุ่มนี้อย่างคร่าวๆ ได้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และอาจมีการเขียนทับซ้อนอีกครั้งในภายหลังช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น สะท้อนถึงการเขียนแบบธรรมชาติ (Naturalistic) หรือภาพสัจนิยม (Realistic) หรือแบบรูปลักษณ์ (Figure) ทราบถึงเรื่องราวอละความหมายของภาพ
ภาพเขียนสีแห่งนี้น่าจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการอพยพเคลื่อนย้ายที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับภาพเขียนสีที่ถ้ำไวกิ้งหรือถ้ำพญานาค เกาะพีพีเล จ.กระบี่ ซึ่งภาพเขียนสีที่เขายะลาประกอบด้วยคนติดอาวุธประเภทหอกและมีด โขลงช้างและช้างติดสัปคับ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ในราชสำนักของไทยจะเห็นได้ว่ามีการใช้ช้างติดสัปคับสำหรับพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นพระคชาธารประเภทหนึ่ง อันหมายถึงช้างทรงของกษัตราธิราช ช้างพระที่นั่งที่มีเครื่องแต่งหลังช้างใช้งาน 3 ลักษณะ คือ พระคชาธารเครื่องมั่น สำหรับใช้ในการสงคราม พระคชาธารพุดตานทอง สำหรับผูกช้างพระที่นั่ง ใช้ในกระบวนอิสริยยศ และพระคชาธารกาญจนฉันท์ สำหรับผูกช้างประดิษฐานพระชัยวัฒน์ ตกแต่งด้วยลวดลายอันประณีต ประดับอาวุธและวัสดุคุณค่าสูง เช่น ทองคำ งา ไม้สัก และผ้า เป็นต้น ส่วนช้างผูกสัปคับสามัญสำหรับขุนนาง มเหสี หรือเจ้าเมืองสำคัญ ตกแต่งด้วยความสวยงามรองจากพระคชาธาร และใช้วัสดุทั่วไป เช่น ไม้ และผ้า (ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 161 ; 2526 : 48) จากหลักฐานทางศิลปกรรมและโบราณคดีพบว่ามีการใช้สัปคัปมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เช่น ประติมากรรมรูปช้างทรงเครื่องพระคชาธารทองคำประดับอัญมณี กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา) เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น สัปคับงาช้างของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในพระที่นั่งพิมุขมนเฑียร อาคารหมู่วิมานจัดแสดงพระราชยาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ)
ภาพโขลงช้างมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพช้างในศิลปกรรมบนผนังหินที่พบในรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏการอยู่อาศัยของช้างตามธรรมชาติในพื้นที่บริเวณจังหวัดยะลาและบริเวณใกล้เคียง
ภาพคนติดอาวุธสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนสะพายหอก กลุ่มคนไม่ติดอาวุธ และคนมีดาบสั้นในมือซ้าย การครองอาวุธที่แตกต่างกัน พิจารณาได้ว่าอาจมีการแบ่งตำแหน่งสถานะหรือชั้นยศภายในกลุ่ม ภาพคนถือมีดจะเห็นได้ว่าผู้วาดภาพเจตนาเขียนขนาดให้ใหญ่กว่าคนอื่นๆ จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าอาจจะเป็นผู้ควบคุม ผู้นำ หรือผู้มีอำนาจในหมู่กลุ่มคนติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ ส่วนภาพคนติดอาวุธในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีรูปคนสะพายหอกที่ถ้ำไวกิ้งหรือถ้ำพญานาค เกาะพีพีเล จ.กระบี่ (สุวิทย์ ชัยมงคล 2533)
ผลการศึกษาที่ผ่านมา หลักฐานบางประการที่พบที่เขายะลายังไม่สามารถกำหนดอายุได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการค้นพบจากการสำรวจบนผิวดิน ยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดี แต่หลักฐานทางโบราณคดีบางประเภทสามารถกำหนดอายุได้จากการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นที่มีการกำหนดอายุอย่างแน่นอนหรือมีการกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ โดยสามารถแบ่งหลักฐานทางโบราณคดีตามอายุสมัยได้ดังนี้
หลักฐานทางโบราณคดีที่ยังกำหนดอายุไม่ได้ ได้แก่ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ พบในพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงที่เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา จากการวิเคราะห์โดยนาง ประพิศ พงศ์มาศ กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ระบุว่าเป็นชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ ของวัยผู้ใหญ่ 4 ชิ้น และชิ้นส่วนกระดูกเชิงกรานของมนุษย์วัยเด็ก 1 ชิ้น (สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2551) อย่างไรก็ตามยังมีชิ้นส่วนกระดูกอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้
หลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่
เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware sherd) พบจากการสำรวจพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีที่เพิงผาตอแล (ตอลัง)ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา เป็นส่วนปากและส่วนลำตัวขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนและมือ เนื้อเห็นเม็ดกรวดชัดเจน กดประทับลายเชือกทาบและผิวเรียบเคลือบผิวด้วยน้ำดินและขัดมันผิวนอก สันนิษฐานว่าใช้ในชีวิตประจำวันของคน เช่น การบรรจุหรือการหุงหาอาหารหรือน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค เป็นต้น เปรียบเทียบได้กับแหล่งโบราณคดีอีกหลายแหล่งในภาคใต้ เช่น แหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ ขุดค้นโดย ศ.ดร.สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ (2539) ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพ มีการกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ในชั้นหลักฐานที่พบภาชนะดินเผาในลักษณะเดียวกันนี้ไว้ประมาณ 3,020±230 ปีมาแล้ว (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ม.ป.ป. ; ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงษ์ 2543)
เครื่องมือหินกะเทาะ (Stone Axe) สำรวจพบในพื้นที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา ทำจากหินดินดานปนผลึกทราย (Siliceous shale) มีลักษณะเป็นเครื่องมือแกนหิน (Core tool) ทรงค่อนข้างเหลี่ยมมนและยาว กะเทาะสองหน้า เห็นผิวหินเดิมเพียงด้านเดียว ปลายด้านหนึ่งแหลมมนมีการกะเทาะซ่อมเพื่อใช้งานซ้ำ (Re-sharpening) สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องมือใช้ขูดสับ (คูน้ำคันดิน 2549)
โกลนขวานหินขัด (Pre-Polished Axe) สำรวจพบในโครงถ้ำในหุบเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลาเช่นเดียวกัน ทำจากหินปูน (Limestone) ทรงสามเหลี่ยม บางด้านโค้งมน ส่วนปลายมีรอยขัดฝนด้านเดียว ซึ่งเป็นลักษณะเตรียมหินก่อนทำเป็นขวานหินขัด เครื่องมือหินลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงโกลนขวานหินที่พบในแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ ซึ่งมีการกำหนดอายุได้ไม่เก่ากว่า 4,000 ปีมาแล้ว หรือในสมัยหินใหม่ตอนต้น (Early Neolithic) (สุรินทร์ ภู่ขจร 2543 ; 17-26)
ขวานหินขัดไม่มีบ่า ทำจากหินปูน ค้นพบและอยู่ในความครอบครองของชาวบ้านในเขตบ้านยะลา ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา (คูน้ำคันดิน 2549)
หลักฐานทางโบราณคดียุคประวัติศาสตร์ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ (Glazed Stoneware) พบจากการสำรวจพื้นที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา เป็นส่วนก้นภาชนะมีฐาน เคลือบใสทั้งด้านนอกและใน ไม่มีลวดลาย ด้านในมีร่องรอยไม่มีเคลือบใสเป็นวงกลม สันนิษฐานว่าเป็นรอยของการวางภาชนะซ้อนในขั้นตอนการเผา จึงทำให้เคลือบหลุดติดไปกับส่วนฐานของภาชนะอีกใบที่วางซ้อนกันอยู่ ด้วยลักษณะของเศษภาชนะดินเผาชิ้นนี้กำหนดอายุในเบื้องต้นได้ว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ แต่ไม่ทราบถึงแหล่งเตาผลิตหรืออายุสมัยที่ชัดเจน (คูน้ำคันดิน 2549)
กรมศิลปากร. ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). สงขลา : สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา, 2555.
คูน้ำคันดิน, ห้างหุ้นส่วนจำกัด. รายงานการสำรวจทางโบราณคดีภูเขายะลา ตำบลลิดล อำเภอเมือง จังหวัดยะลา. รายงานเสนอจังหวัดยะลา และสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร, 2549.
พเยาว์ เข็มนาค. “ลวดลายบนผิวภาชนะวัฒนธรรมบ้านเชียง” ศิลปากร 34, 5 (2534) : 61-95.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำจังหวัดเลย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2539.
พิสิฐ เจริญวงศ์. ศิลปะถ้ำในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2531.
พิสิฐ เจริญวงศ์. ศิลปะถ้ำในอีสาน. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532.
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. รายงานการสำรวจและจัดทำข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดยะลา. ยะลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, 2539.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2525.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2526.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงษ์. “แหล่งโบราณคดีภูเขายะลา” สารกรมศิลปากร 13, 7 (กรกฎาคม 2543) : 22-24.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “งานโบราณคดีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีต-ปัจจุบัน” ศิลปวัฒนธรรม 26, 5 (มีนาคม 2548) : 58-61.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา. โครงการการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าการตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ ลุ่มแม่น้ำปัตตานี-สายบุรี. สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร, 2543.
สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา. “แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา” เอกสารกลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา, ม.ป.ป.
สุภาวดี อินทราประเสริฐ. “หลักฐาใหม่ที่พบ ณ แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลา ตำบลลิดล และตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา” ใน สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. เอกสารในการสัมมนาเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2551 จัดโดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2551
สุรินทร์ ภู่ขจร. รายงานขั้นสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่, ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไก จังหวัดตรัง. กรงุเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.
สุวิทย์ ชัยมงคล และขวัญใจ พิกเพ้น. ศิลปะถ้ำพญานาค กระบี่. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.
อมรา ศรีสุชาติ. “ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย : ภาพสะท้อนของคนในสังคมแห่งบรรพกาล” ศิลปากร 33, 4 (2532) : 44-62.
อัตถสิทธิ์ สุขขำ. “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.